สถาบันอัญมณีฯ ผลักดันมหาวิทยาลัย โรงเรียนช่าง เปิดหลักสูตรแรงงานช่างฝีมือ เพื่อผลิตช่างป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ หลังล่าสุดมีแค่ 4 มหาวิทยาลัยที่เปิดหลักสูตรแล้ว ผลิตได้เพียงปีละ 1,000-2,000 คน ยังไม่เพียงพอ หลังปัจจุบันช่างเลิกอาชีพ เหตุได้ค่าจ้างต่ำ มีเครื่องจักรเข้ามาทดแทน
นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือจีไอที เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ไทยมีโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย ช่างทองหลวง ซึ่งผลิตช่างทองและเครื่องประดับเกือบ 300 คนต่อปี แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของอุตสาหกรรม โดยจีไอทีอยู่ระหว่างการประสานกับมหาวิทยาลัย และโรงเรียนช่างทั่วประเทศให้เพิ่มหลักสูตรแรงงานช่างฝีมือ เพื่อป้อนให้กับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ หลังจากที่ผ่านมา ได้มีสถาบันศึกษา 4 แห่งมีหลักสูตรแล้ว คือ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ,มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ , มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ที่ช่วยป้อนแรงงานฝีมือปีละ 1,000-2000 คน
“ได้รับรายงานว่าช่างทองในไทยเริ่มขาดแคลนมาก หรือจำนวนช่างทองลดลง 40-50% จาก 10 ปีก่อนที่มีช่างทองถึง 30,000 คน เพราะได้รับค่าจ้างในการขึ้นรูปแบบลวดลายในอัตราต่ำ ประกอบกับผู้ประกอบการใช้เครื่องจักรแทน รวมถึงในช่วงปี 2553-55 ราคาทองคำสูงมาก ทำให้ความต้องซื้อทองรูปพรรณลดลง และประชาชนซื้อทองคำแท่งเพื่อการลงทุนแทน ซึ่งการขาดแคลนช่างทองนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อการผลิตทองคำรูปพรรณขนาดเล็ก โดยเฉพาะการผลิตทองรูปพรรณขนาด 1-2 สลึง ที่ต้องใช้ความประณีตมาก”
ปัจจุบันอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทยขยายตัวมาก มีการจ้างงานเกือบ 1 ล้านคน แต่ละปีส่งออกได้ไม่ต่ำกว่า 500,000 ล้านบาท โดยช่วง 4 เดือนของปี 2561 (ม.ค.-เม.ย.) การส่งออกมีมูลค่า 4,181 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 6.04% แต่หากหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ได้ขึ้นรูป จะมีมูลค่า 2,540.41 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.46% โดยสินค้าที่ส่งออกได้เพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องประดับทอง เครื่องประดับแพลทินัม เพชรเจียระไน พลอยเนื้อแข็งเจียระไน พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เครื่องประดับเทียม และเครื่องประดับเงิน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลก กระทรวงแรงงานได้กำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือในอุตสาหกรรมอัญมณี ประกอบด้วย ช่างเจียระไนพลอย ช่างหล่อเครื่องประดับ ช่างตกแต่งเครื่องประดับ และช่างอัญมณีบนเครื่องประดับ ระดับ 1 ค่าจ้าง 420 บาทต่อวัน ระดับ 2 ค่าจ้าง 550 บาทต่อวัน ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ปี 2559 ส่งผลให้แรงงานที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ มีค่าจ้างเหมาะสมเป็นธรรม