xs
xsm
sm
md
lg

ขบ.อัปเกรดสนามสอบใบขับขี่ ใช้ระบบ E-Driving ทั่วประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กรมขนส่งฯ อัปเกรดการสอบใบขับขี่ ใช้ระบบทดสอบขับรถภาคปฏิบัติด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (E-Driving) จับมืออาชีวศึกษาพัฒนาผลงานต้นแบบ คาดเสร็จ ก.ค.นี้ ลุยติดตั้งสนามทดสอบทั่วประเทศ เผยปีใหม่ 62 สอบใบขับขี่ประเมินด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ โปร่งใส และเป็นธรรม

นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยว่า กรมขนส่งฯ ได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) การพัฒนาและจัดทำต้นแบบจำลองระบบการทดสอบขับรถภาคปฏิบัติด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (E-Driving) ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาต้นแบบ คาดว่าจะเสร็จในเดือน ก.ค.นี้ จากนั้นจะนำไปติดตั้งในสนามทดสอบขับรถ สำนักงานขนส่งทั่วประเทศประเทศครบทั่วประเทศภายในปี 2561 เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ 2562 ซึ่งการทดสอบขับรถภาคปฏิบัติด้วยอิเล็กทรอนิกส์มีความโปร่งใสและเป็นธรรมจะทำให้เกิดความเชื่อมั่น และสบายใจ ลดข้อโต้แย้งในการทดสอบภาคปฏิบัติได้มากกว่าระบบที่ใช้เจ้าหน้าที่ประเมิน และสามารถควบคุม กำกับ ดูแล และดำเนินการทดสอบขับรถได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน ส่งผลให้อัตราการเกิดอุบัติเหตุทางถนนลดลง

โดยปัจจุบันกรมการขนส่งทางบกมีหน่วยงานในสังกัดที่ดำเนินการทดสอบขับรถจำนวน 196 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งทดสอบขับรถด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์  (E-Driving) แล้วจำนวน 10 แห่ง ประกอบด้วย สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 (ถนนบางขุนเทียน-ชายทะเล), สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 2 (ถนนสวนผัก ตลิ่งชัน), สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 3 (ถนนสุขุมวิท ตรงข้ามซอยสุขุมวิท 62/1), สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 4 (ถนนสุวินทวงศ์ หนองจอก), สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 5 (กรมการขนส่งทางบก จตุจักร), สำนักงานขนส่งจังหวัดชลบุรี, สำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่, สำนักงานขนส่งจังหวัดลำปาง, สำนักงานขนส่งจังหวัดขอนแก่น, สำนักงานขนส่งจังหวัดภูเก็ต

ในส่วนที่เหลือจะเป็นการติดตั้งโดยเทคโนโลยีที่พัฒนาและประดิษฐ์ขึ้นโดยอาชีวศึกษาซึ่งมีต้นทุนที่ต่ำกว่าระบบเดิมที่ได้ติดตั้งขนส่ง 10 แห่งก่อนหน้านี้ โดยมีต้นทุนเฉลี่ยประมาณ 3 แสนบาทต่อแห่งเท่านั้น เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษามีสถานศึกษาในสังกัดตั้งอยู่ทุกจังหวัด 458 แห่ง ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นหน่วยซ่อมบำรุงในระดับพื้นที่ รวมถึงพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีใหม่ได้สะดวก ความร่วมมือนี้นอกจากจะเป็นการสนับสนุนให้เกิดการใช้เทคโนโลยีฝีมือคนไทยแล้วยังเป็นการสร้างงานสร้างอาชีพให้ท้องถิ่น และเป็นการสร้างนักศึกษาอาชีวศึกษาสู่การเป็นกำลังคนรุ่นใหม่ หรือสตาร์ทอัพ ด้านเทคโนโลยีที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศอีกด้วย

นายสนิทกล่าวว่า ที่ผ่านมากรมฯ ได้ยกระดับมาตรฐานคุณภาพผู้ขับรถตามโครงการ Sure Driving Smart Driver โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในทุกกระบวนการ ตอบสนองนโยบายเพื่อความปลอดภัยทางถนนของประเทศ ตอบโจทย์บริการอำนวยความสะดวกประชาชนในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การจองคิวอบรมภาคทฤษฎีกับสำนักงานขนส่งทั่วไทยผ่านระบบ E-Booking การแสดงตัวตนผ่านบัตรประจำตัวประชาชน และการสแกนลายนิ้วมือ ปลอดภัยจากการปลอมแปลงตัวตน การเพิ่มประสิทธิภาพการทดสอบสมรรถภาพทางร่างกาย หรือ E-Performance ควบคุมมาตรฐานการเรียนการสอนด้วยระบบ E-Classroom สร้างมาตรฐานการทดสอบภาคทฤษฎีด้วยระบบ E-Exam และการทดสอบขับรถภาคปฏิบัติระบบ E-Driving มาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ดังนั้น เพื่อให้การพัฒนาระบบการทดสอบขับรถภาคปฏิบัติ ซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ใช้ในการวัดทักษะการขับรถของผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถ ให้เป็นระบบและมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ

ด้าน ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า การพัฒนาและจัดทำต้นแบบจำลองระบบการทดสอบขับรถภาคปฏิบัติด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (E-Driving) นั้น สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาได้มอบหมายให้สถานศึกษาในสังกัดเข้าร่วมเป็นเจ้าภาพหลักจัดทำต้นแบบจำลองฯ ตามองค์ความรู้ความสามารถเฉพาะด้านที่เกี่ยวข้องกับระบบฯ พร้อมดำเนินการทดลองและทดสอบการใช้งานสู่การสร้างต้นแบบที่ใช้งานได้จริงโดยไม่ต้องใช้คนเข้าไปดำเนินการ และจัดทำคู่มือการติดตั้งซ่อมบำรุง โดยมุ่งเน้นผลงานตรงตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักของกรมการขนส่งทางบก ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางบกได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาทักษะและความสามารถนักศึกษาอาชีวศึกษามาอย่างต่อเนื่อง ให้ใช้ความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงานจริง ดังนั้น ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะฝึกฝนนักศึกษาอาชีวศึกษาให้เกิดการตื่นตัวในการฝึกฝน พัฒนาทักษะ ซึ่งจะเป็นการพัฒนากำลังคนรุ่นใหม่ และถือเป็นการรองรับให้ผู้เรียนจบการศึกษาเกิดความภาคภูมิใจ





กำลังโหลดความคิดเห็น