xs
xsm
sm
md
lg

ทล.แจงออกแบบอุโมงค์ลอดมอเตอร์เวย์ที่สระบุรีตามมาตรฐาน ลดผลกระทบ-ปลอดภัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

รูปที่ 1 สภาพพื้นที่ในปัจจุบัน
กรมทางหลวงชี้แจงอุโมงค์มอเตอร์เวย์ “บางปะอิน-โคราช” ที่หนองแค จ.สระบุรี ออกแบบตามหลักวิศวกร ลงพื้นที่ศึกษาปัจจัยกายภาพซึ่งการใช้งานจริง ฟังความเห็นรวม 4 ครั้ง ปรับแก้เพิ่มบล็อกอีก 1 ช่อง ยันอุโมงค์กว้าง 3 เมตร สูง 2.40 เมตร รถผ่านได้ ซึ่งขณะนี้มีใช้หลายที่

นายประมณฑ์ สถาพรนานนท์ วิศวกรใหญ่ด้านสำรวจและออกแบบ กรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า จากกรณีสื่อสังคมออนไลน์เสนอข่าวกรณีชาวบ้านรายหนึ่ง ซึ่งอาศัยอยู่ใน ต.คชสิทธิ์ อ.หนองแค จ.สระบุรี เผยแพร่ลงเฟซบุ๊กส่วนตัว "Kanong Sangangam" พร้อมภาพ “อุโมงค์วัดโคกขี้เหล็ก” อุโมงค์เจ้าปัญหาที่เกิดจาก “โครงการทางหลวงหมายเลข 6” (บางปะอิน ถึง นครราชสีมา) กม.29.374 ที่แคบและเตี้ยนั้น ขอชี้แจงข้อเท็จจริงดังนี้

ข้อเท็จจริงบริเวณทางลอด

เนื่องจากสภาพพื้นที่ในปัจจุบันของชุมชนบริเวณวัดชัยเฉลิมมิตร ต.คชสิทธิ์ อ.หนองแค จ.สระบุรี มีแนวมอเตอร์เวย์ตามแนวเส้นทางดังรูปที่ 1 ซึ่งมีจุดตัดกับถนนท้องถิ่นบริเวณชุมชนวัดชัยเฉลิมมิตร 2 จุด โดยจุดที่ 1 เป็นจุดตัดกับถนนท้องถิ่นจาก ทล.3043 บริเวณชุมชนคชสิทธิ์เข้าหมู่บ้าน และจุดตัดที่ 2 เป็นถนนท้องถิ่นจากจุดตัดทางหลวงหมายเลข 33 เข้าหมู่บ้าน ซึ่งถนนทั้งสองบรรจบกันที่วัดเฉลิมมิตร โดยจุดตัดที่ 1 และ 2 ห่างกันเป็นระยะทางประมาณ 330 เมตร

ทั้งนี้ เดิมจากการออกแบบโครงการกรมทางหลวงได้คำนึงถึงเรื่องผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่เดิม โดยการออกแบบจุดตัดที่ 1 เป็นสะพานยาว 40 เมตร มีช่องลอดอย่างน้อย 3.50 เมตร เพื่อให้รถขนาดกลางสามารถสัญจรได้ ซึ่งกรมทางหลวงได้พิจารณาว่าเป็นถนนหลักเข้าสู่หมู่บ้านเชื่อมชุมชน อบต.คชสิทธิ์

และออกแบบจุดตัดที่ 2 เป็นทางลอดกว้าง 3.00 เมตร สูง 2.40 เมตร ซึ่งพื้นที่สองข้างทางยังไม่พัฒนา และออกแบบถนนขนานมอเตอร์เวย์ขนาด 2 ช่องจราจรสวนทางกัน กว้าง 6 เมตร พร้อมไหล่ทางข้างละ 1 เมตร รวมเป็นความกว้างถนนทั้งหมด 8 เมตร เพื่อให้สามารถเชื่อมต่อระหว่างจุดตัดที่ 1 และ 2 ได้อย่างสะดวก โดยมีระยะทางประมาณ 330 เมตร ดังแสดงในรูปที่ 2

ต่อมาเมื่อได้เริ่มดำเนินโครงการฯ กรมทางหลวงจึงได้เห็นปัญหาและดำเนินการแก้ไขปรับปรุง โดยมีการจัดการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งในพื้นที่ กลุ่มย่อย และภาพรวม 4 ครั้ง และนำผลการมีส่วนร่วมมาแก้ไขปัญหา โดยมีการออกแบบเพิ่มความสูงช่องลอดในจุดที่ 1 เป็นสะพานมีความสูงช่องลอดไม่น้อยกว่า 4.20 เมตร ซึ่งเป็นความสูงรถบรรทุกตามกฎหมาย และเพิ่มทางลอดในจุดตัดที่ 2 ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการร้องเรียน เป็นทางลอดกว้าง 3.00 เมตร สูง 2.40 เมตร จำนวน 2 ช่อง จากเดิม 1 ช่อง โดยมีภาพจำลองหลังจากการก่อสร้างแล้วเสร็จดังรูปที่ 3 ซึ่งหากมีการพิจารณาโดยภาพรวมของการเดินทางของประชาชนที่เดินทางเข้า-ออกหมู่บ้าน พบว่ายังคงสัญจรได้ทั้งรถขนาดใหญ่และเล็กตามรูปที่ 4

อย่างไรก็ดี ในข้อเรียกร้องให้เปลี่ยนรูปแบบทางลอดบริเวณจุดตัดที่ 2 จากทางลอดกว้าง 3.00 เมตร สูง 2.40 เมตร เป็นทางลอดใต้สะพานช่องลอดสูงนั้น ต้องชี้แจงว่าจะส่งผลกระทบต่อรูปแบบทางวิศวกรรม และงบประมาณในการดำเนินโครงการฯ เนื่องจากจะต้องออกแบบทางโดยต้องยกระดับคันทางสูงขึ้นตลอดแนว รวมช่วงที่ต้องปรับระดับด้วยเป็นระยะทางกว่า 1 กิโลเมตร เพื่อยกความสูงสะพานและคันทางให้ได้ตามที่ต้องการ และอาจมีผลกระทบต่อองค์ประกอบอื่นข้างเคียง เช่น บริเวณที่ทำถนนบริการ (Service Road) อาจต้องมีการเวนคืนที่เพิ่มเติม เป็นต้น

ทั้งนี้ รูปแบบที่ได้ปรับปรุงดังกล่าวข้างต้นนั้นเป็นแนวทางการลดผลกระทบที่เหมาะสมและสามารถใช้งานเส้นทางได้ โดยสอดคล้องกับสภาพการสัญจรในปัจจุบันแล้ว ซึ่งกรมทางหลวงได้ลงพื้นที่สำรวจการใช้เส้นทาง ปัจจุบันมีหลายเส้นทางที่มีทางลอดในลักษณะดังกล่าวและมีการใช้งานได้ปกติ  โดยมีตัวอย่าง รูปที่ 5 บริเวณ ทล.201 แก่งคร้อ-ชุมแพ ทางลอดกว้าง 3.00 เมตร กว้าง 2.40 เมตร จำนวน 2 ช่อง
รูปที่ 2 โครงข่ายของถนนตามที่ปรับปรุงขนาดทางลอด
รูปที่ 3 ภาพจำลองหลังจากการก่อสร้างแล้วเสร็จ
รูปที่ 4 เส้นทางเดินรถของรถขนาดใหญ่และเล็กในพื้นที่ชุมชนดังกล่าว
รูปที่ 5 ตัวอย่างบริเวณ ทล.201 แก่งคร้อ - ชุมแพ ทางลอดกว้าง 3.00 เมตร กว้าง 2.40 เมตร จำนวน 2 ช่อง


กำลังโหลดความคิดเห็น