xs
xsm
sm
md
lg

ปฏิรูปรถเมล์อืด! จี้กรมการขนส่งฯ เร่งเครื่อง เอกชนพร้อมปรับตัว ติงนโยบายไม่นิ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รถร่วมฯ ขสมก.จี้กรมการขนส่งฯ ตัดสินใจเดินแผนปฏิรูปรถเมล์ ระบุสุดอืด ยันเอกชนพร้อมรวมตัวเป็นหนึ่งยื่นแผนยกเครื่องระบบบริการ ซื้อรถใหม่ เปลี่ยนรถร้อนเป็นแอร์ทั้งหมด ด้าน ขบ.จ่อประมูล 25 เส้นทางใหม่ เผยปฏิรูปใกล้ยุติ รอหารือนโยบายรอบสุดท้าย

นายเชิดชัย สนั่นศรีสาคร รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการปฏิรูประบบรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ว่า หลังจากได้เปิดประมูล และมีการเดินรถ 2 เส้นทางใหม่ คือ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์-โรงพยาบาลรามาธิบดี (ทางด่วน) และเส้นทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตศาลายา-สถานีรถไฟฟ้าหมอชิต (ทางด่วน) แล้ว โดยจะนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงต่อไป

ในเร็วๆ นี้ กรมการขนส่งฯ จะมีการเปิดประมูลให้เอกชนยื่นข้อเสนอเดินรถอีก 25 เส้นทางใหม่ โดยจะแบ่งออกเป็น 8 กลุ่ม แต่ละกลุ่มจะมีเส้นทางที่มีผู้โดยสารมาก และผู้โดยสารน้อยคละกัน ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดการแข่งขันประมูลเฉพาะเส้นทางที่มีผู้โดยสารมากเท่านั้น โดย ขบ.ได้กำหนด 25 เส้นทางใหม่ในพื้นที่โซนรอบนอก กทม.ซึ่งไม่ทับซ้อนกับเส้นทางเดิมที่มีการให้บริการอยู่

สำหรับการปฏิรูปรถเมล์ในภาพรวมนั้น นายเชิดชัยกล่าวว่า เบื้องต้นจะปรับเส้นทางรถเมล์จากเดิม 202 เส้นทาง เป็น 269 เส้นทาง โดยมีสายใหม่ รอบนอก และที่สามารถเป็นฟีดเดอร์เชื่อมต่อรถไฟฟ้า และตัดระยะของสายที่ค่อนข้างยาวให้เหมาะสมมากขึ้น ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมมอบหมายให้ ขบ.หารือกับผู้ประกอบการเดิมเพื่อเข้าสู่การปฏิรูปทั้งหมด เบื้องต้นทราบว่านักลงทุนไทยจะเข้าร่วมกับผู้ประกอบการเอกชน โดยจะรับภาระหนี้สินเดิมและลงทุนจัดหารถใหม่ ซึ่งจะสรุปแผนทั้งหมด และนำหารือกับระดับนโยบายกระทรวงคมนาคมต่อไป

***รถร่วมฯ ติงนโยบายไม่ชัดเจน ยันพร้อมลงทุนและยกระดับบริการมานานแล้ว

นางภัทรวดี กล่อมจรูญ นายกสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง กล่าวว่า ผู้ประกอบการพร้อมที่จะร่วมปฏิรูปรถเมล์ ที่ผ่านมาได้ยื่นแผนลงทุนที่ผู้ประกอบการจะสามารถอยู่ได้ และมีบริการที่ดีให้ประชาชนต่อกรมการขนส่งฯ ซึ่งรถร่วมฯ กว่า 3,000 คันขณะนี้รวมตัวกันกว่า 2,000 คันแล้ว พร้อมจะลงทุนซื้อรถใหม่เป็นรถปรับอากาศทั้งหมดเพื่อให้มีรถได้มาตรฐานที่กรมการขนส่งฯ กำหนด มีระบบ GPS, ระบบ e-ticket พนักงานที่มีมาตรฐานด้านบริการ ซึ่งประเมินลงทุนเกือบหมื่นล้านบาท โดยตอนนี้ต้องการความชัดเจนของนโยบาย ซึ่งกรมการขนส่งฯ ยังไม่มีคำตอบ

ผู้ประกอบการขอรับสิทธิเดินรถในเส้นทางโดยไม่ประมูล แต่กรมการขนส่งฯ ยังไม่ยืนยันเพราะตามแผนกรมการขนส่งฯ จะให้ประมูลแข่งขัน ซึ่งถ้าประมูลก็จะเป็นรูปแบบเดิมที่เอกชนต้องแข่งขันกัน สุดท้ายก็อยู่ไม่ได้ ส่วน ขสมก.ที่เป็นผู้ให้บริการรายหนึ่งที่ได้รับงบประมาณอุดหนุน ไม่ต้องลงทุนซื้อรถเอง แต่กรมการขนส่งฯ บอกไม่ต้องประมูลเส้นทาง

สำหรับโครงสร้างค่าโดยสารรถปรับอากาศ เบื้องต้นได้เสนอที่ 20 บาทตลอดสาย และมีตั๋วบุฟเฟต์ 40 บาทต่อวัน ขึ้นได้ไม่จำกัดเส้นทางและเที่ยว และอัตรา 10 บาท สำหรับผู้โดยสารที่เดินทางใกล้ 3-5 ป้าย เป็นต้น ส่วนรถร้อนหากภาครัฐต้องการให้วิ่งอยู่ ผู้ประกอบการพร้อมปรับปรุงรถนำมาให้บริการในบางเส้นทางได้

“ผู้ประกอบการพร้อมปรับตัวมานานแล้ว แต่รัฐไม่ชัดเจน การลงทุนหมื่นล้าน แผนไม่ชัด แบงก์ก็ไม่ปล่อยกู้ เรามองอนาคต หากปฏิรูปแล้วต้องดีขึ้น แต่ขนส่งฯ ไม่ตัดสินใจ ตอนนี้รถร่วมฯ ที่เหลืออีกพันคันก็เลยไม่มีความเชื่อมั่น แต่ถ้ารัฐชัดเจน เอกชนที่เหลือมาแน่นอน วันนี้ต้องถามว่ากรมการขนส่งฯ จะเอาอย่างไร เอกชนพร้อมขนาดนี้ เอกชนไม่อยากแข่งกันเอง เพราะทุกวันนี้รถติดมาก ทำรอบวิ่งไม่ได้อยู่แล้ว แถมมีรถตู้ วินมอเตอร์ไซค์ อีก การปรับปรุงรถเมล์ให้มีบริการที่ดีก็เพื่อประชาชนจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” นางภัทรวดีกล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 27 ก.ย. 2559 ได้มีมติยกเลิกมติ ครม.เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2526 ที่ให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เป็นผู้เดินรถเพียงรายเดียว และรถร่วมฯ เอกชนทำสัญญาเข้าร่วมเดินรถกับ ขสมก.นั้น ทำให้ ขสมก.ถือเป็นผู้ประกอบการเดินรถรายหนึ่ง ส่วนรถร่วมฯ ขสมก.จะโอนมาขึ้นตรงต่อกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) โดยขอใบอนุญาตจากกรมการขนส่งฯ

ต่อมาเมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2560 ครม.รับทราบแผนปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ โดยเพิ่มเส้นทางรถเมล์จาก 202 เส้นทางเป็น 269 เส้นทาง และเพิ่มระยะทางจากเดิม 6,437 กม. เป็น 7,833 กม.เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการมากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น