ผู้จัดการรายวัน 360 พีพี กรุ๊ป รุกตลาดออนไลน์ รับเทรนด์และไลฟ์สไตล์ยุคใหม่ เปิดเว็บไซต์นำร่องแบรนด์ ลองฌอมป์ จากฝรั่งเศสก่อน เหตุคนไทยรู้จักดี ราคาไม่สูงเกินไป เป็นตลาดแมส และคนไทยซื้อลองฌอมป์มากสุดติดท็อปเท็นโลกด้วย
นางสุวดี พึ่งบุญพระ ประธานกรรมการ และนายโอฬาร ปุ้ยพันธวงศ์ รองประธานกรรมการ พีพี กรุ๊ป ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าอินเตอร์แบรนด์แฟชั่น ร่วมกันเปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ขยายช่องทางจำหน่ายสู่ตลาดออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ของบริษัทชื่อว่า www.onlinestore.ppgroupthailand.com ซึ่งเริ่มเป็นทางการเดือนมิถุนายน 2561 นี้ ด้วยการนำแบรนด์ลองฌอมป์ (Longchamp) มาจำหน่ายในช่องทางดังกล่าวเป็นแบรนด์แรกของกลุ่มที่มีทั้งหมด 10 แบรนด์ และคาดว่าในปีหน้าจะเริ่มนำแบรนด์เอ็มซีเอ็ม (MCM) มาจำหน่ายออนไลน์เป็นแบรนด์ที่สอง ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัทฯ ได้ทดลองขายผ่านทางแอปพลิเคชัน Line@ มาแล้ว ก่อนที่จะพัฒนาสู่อี-คอมเมิร์ซอย่างเต็มรูปแบบ
“ไทยเป็น 1 ใน 2 ประเทศที่เป็นดิสทริบิวเตอร์ของลองฌอมป์ ที่บริษัทแม่ที่ฝรั่งเศสอนุมัติให้มีการขายผ่านทางออนไลน์ ต่อจากประเทศออสเตรเลียที่เริ่มเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ส่วนประเทศอื่นที่ไม่มีดิสทริบิวเตอร์ทางบริษัทแม่ดำเนินการเอง เนื่องจากบริษัทแม่ที่ฝรั่งเศสมองเห็นศักยภาพของตลาดไทย และไทยยังเป็นตลาดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในเอเชียอีกด้วย และคนไทยก็ซื้อสินค้าลองชอมป์มากที่สุดติดอันดับท็อปเท็นในประเทศฝรั่งเศสด้วยเช่นกัน”
ผู้บริโภคคนไทยรู้จักและคุ้นเคยแบรนด์ลองฌอมป์นี้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว ไม่ต้องทำการตลาดหรือสร้างแบรนด์หรืออธิบายสินค้ามากนัก อีกทั้งเป็นสินค้าแมสจากในกลุ่มที่เรามีทั้งหมด และระดับราคเฉลี่ย 4,000 กว่าบาทขึ้นไปไม่ได้สูงมากนัก ทั้งนี้ สินค้าลองฌอมป์ในออนไลน์จะมีราคาเดียวกันกับที่สโตร์ จึงเหมาะสมที่จะนำมาเป็นแบรนด์แรกในการรุกตลาดออนไลน์ ซึ่งลองฌอมป์อยู่ในไทยมานานกว่า 11 ปี แต่บริษัทฯ เป็นผู้จัดจำหน่ายในไทยเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา โดยคาดหวังว่าลองฌอมป์จะมียอดขายเติบโตในช่องทางออไลน์มากถึง 20-30% จากเดิมเติบโต 15% และคาดหวังมีสัดส่วนรายได้ประมาณ 5% จากออนไลน์ แบ่งเป็นลูกค้าต่างจังหวัด 60% และกรุงเทพฯ กับปริมณฑล 40% และเป็นลูกค้าคนไทย 80% และต่างชาติ 20%
“ลองฌอมป์ที่ขายในไทยสูงกว่าในฮ่องกงประมาณ 10-15% ซึ่งห่างกันไม่มาก ซึ่งเราต้องเสียภาษีนำเข้าเฉลี่ย 20-30% ส่วนสินค้าที่ขายในออนไลน์นั้น เรามั่นใจว่าราคาของเราจะสามารถสู้กับพวกสินค้าเกรย์มาร์เกตได้แน่นอน”
นายโอฬารกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาตลาดอี-คอมเมิร์ซในไทยมีการเติบโตต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากอีคอมเมิร์ซ ไอคิว ระบุว่า ในปี 2559 มูลค่าการซื้อสินค้าผ่านทางอี-คอมเมิร์ซของธุรกิจค้าปลีกในไทยมีประมาณ 2,450 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยธุรกิจแฟชั่นมีมูลค่าประมาณ 390 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือมากกว่า 13,650 ล้านบาท และเป็นกลุ่มสินค้าที่มีอัตราการเติบโตสูงถึง 49% ส่วนในปี 2560 มีมูลค่าเพิ่มเป็น 2,945 ล้านเหรียญสหรัฐ