“กกร.” เตรียมส่งหนังสือถึงคลังและกกบ.สัปดาห์หน้าหวังให้ปรับคณะอนุกรรมการศึกษาผลกระทบการบังคับใช้มาตรฐานการประกอบวิชาชีพบัญชี TFRS9 แนะให้คลังเป็นประธานและกรรมการควรครอบคลุม ยันควรเลื่อนการบังคับใช้ 1 ม.ค. 62 ออกไปเป็น 1 ม.ค. 2565 หวั่นกระทบทุกภาคส่วนโดยเฉพาะเอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพ
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยหลังทำหน้าที่ประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กกร.) ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และ ส.อ.ท. ว่า กกร.เตรียมยื่นหนังสือถึงคลังและคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กกบ.) สัปดาห์หน้าเพื่อให้ปรับปรุงคณะอนุกรรมการศึกษาผลกระทบการบังคับใช้มาตรฐานการบัญชี TFRS9 ในวันที่ 1 ม.ค. 2562 นี้ โดยให้ตัวแทนจากกระทรวงการคลังทำหน้าที่ประธานและกรรมการต้องครอบคลุมจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น ธุรกิจลิสซิ่ง เช่าซื้อ เป็นต้น
“ก่อนหน้าหน้านี้ กกร.ได้ทำหนังสือไปแล้วถึงกกบ.ให้เลื่อนบังคับใช้มาตรฐานการบัญชี TFRS9 วันที่ 1 ก.ค. 2562 ออกไป เป็นวันที่ 1 ม.ค. 2565 เพราะอยากให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้มีเวลาศึกษาข้อดีข้อเสียที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยค่อนข้างสูงชัดเจนก่อนซึ่งก็ได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาแต่ประธานมาจากตัวแทนสภาวิชาชีพบัญชีซึ่งต้องการจะผลักดันให้เดินหน้าอยู่แล้ว และกรรมการกลับไม่ครอบคลุมจากทุกส่วนที่เกี่ยวข้องจึงต้องการให้มีการปรับปรุงใหม่และศึกษาข้อดีข้อเสียก่อนให้ชัดเจนซึ่งเห็นว่าหลายประเทศก็เลื่อนใช้แล้วและแม้แต่แบงก์รัฐเองก็เลื่อนใช้เช่นกัน” นายสุพันธ์กล่าว
ทั้งนี้ เบื้องต้นคาดว่าหากบังคับใช้จะกระทบต่อวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) และสตาร์ทอัพ (Startup) จะประสบปัญหามากเพราะมาตรฐานการบัญชี TFRS9 ที่จะสะท้อนความเสี่ยงของกิจการมากขึ้นทำให้กิจการที่เกี่ยวข้องต้องมีการกันสำรองเผื่อขาดทุนจากการด้อยค่าต้องสูงตามไปด้วย
นายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า เรื่องนี้น่าจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะผลกระทบต่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะยากลำบากขึ้น สถาบันการการเงินอาจต้องกันสำรองหนี้เสียสูงขึ้น เพราะมาตรฐานการบัญชีใหม่จะเป็นต้นทุนของสถาบันการเงิน ส่งผ่านไปยังการขอสินเชื่อของผู้ประกอบการเองที่อาจไม่ได้รับความช่วยเหลือเงินกู้เลยก็ได้
นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กกร.ยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2561 ไว้ที่ 4.0-4.5% และคาดว่าการส่งออกน่าจะขยายตัว 5.0-8.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมองว่าน่าจะอยู่ที่ 0.7-1.2% และระยะข้างหน้ายังคงต้องติดตามบทสรุปข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐกับประเทศคู่ค้า ส่วนในเรื่องความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP นั้น กกร.เห็นว่าเป็นทิศทางการค้าและการลงทุนที่สำคัญของไทยจึงขอให้รัฐเร่งรัดการพิจารณาท่าทีและข้อดีข้อเสียของไทยเพื่อไม่ให้เสียโอกาส