xs
xsm
sm
md
lg

“สนธิรัตน์” ดันเพิ่มฟาร์มเอาท์เลตอีก 20 แห่ง ช่วยเกษตรกร-ชุมชน มีที่ขายสินค้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“สนธิรัตน์” ดันเพิ่มศูนย์จำหน่ายสินค้าเกษตรชุมชนปีนี้อีก 20 แห่ง ช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ผลิตสินค้าชุมชน สินค้าท้องถิ่น สินค้าเกษตรอินทรีย์ ให้มีที่จำหน่ายสินค้าเพิ่มขึ้น พร้อมเข้าไปช่วยพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ขยายช่องทางค้าขาย ดันเชื่อมโยงกับสถานที่ท่องเที่ยว ดึงให้นักท่องเที่ยวมาแวะซื้อหาสินค้าก่อนเดินทางกลับ มั่นใจช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในปี 2561 นี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งเป้าหมายที่จะผลักดันให้มีการเปิดศูนย์จำหน่ายสินค้าเกษตรชุมชน (ฟาร์ม เอาท์เลต) เพิ่มอีก 20 แห่ง รวมกับที่ตั้งไปแล้ว 43 แห่ง จะทำให้มีฟาร์มเอาท์เลตทั้งสิ้น 63 แห่ง เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้กับสินค้าของเกษตรกร สินค้าที่ผลิตโดยผู้ผลิตชุมชน ผู้ผลิตท้องถิ่น และสินค้าเกษตรอินทรีย์ ที่กระทรวงฯ เข้าไปส่งเสริม โดยมั่นใจว่าจะช่วยให้กลุ่มเกษตรกรและผู้ผลิตในระดับฐานรากมีรายได้เพิ่มขึ้น

สำหรับร้านค้าและจังหวัดที่กรมการค้าภายในและสำนักงานพาณิชย์จังหวัดได้เข้าไปสำรวจและได้รับการพิจารณาคัดเลือกให้เป็นฟาร์ม เอาท์เลต อีก 20 แห่ง ได้แก่ ร้าน Check In Trat จ.ตราด ร้านโคตรของฝาก จ.ชัยนาท, ตลาดนัดกาสร จ.สระแก้ว, ร้านวรรณ จ.ปราจีนบุรี, ร้านทรอปิคานา จ.นครปฐม, โอทอปบ้านพ่อ จ.ประจวบคีรีขันธ์, ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์, ร้านค้าวิทยาลัยเกษตรศรีสะเกษ จ.ศรีสะเกษ, ฟาร์มฮัก ป.อุบล จ.อุบลราชธานี, ศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนตำบลดงขุย จ.เพชรบูรณ์, ร้าน O2U Organic Fresh Mart จ.แม่ฮ่องสอน, ร้านทีสเปซ จ.นครสวรรค์, ศูนย์โอทอปช็อป จ.กำแพงเพชร, บจก.ฟาร์มแห่งความสุข จ.ระนอง, ภูรีออร์แกนิกมาร์เก็ต จ.สงขลา, ร้านทางไท จ.สงขลา, เค้กกนิษฐา จ.ตรัง, ตลาดใต้เคี่ยม จ.ชุมพร, Satun Green Outlet จ.สตูล และ ร้านร้อยเกาะเซ็นเตอร์ จ.สุราษฎร์ธานี

“กระทรวงฯ จะเข้าไปสนับสนุนฟาร์มเอาท์เลตให้มีการปรับโฉมร้านค้าให้ทันสมัย เพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เข้ามา และจะเข้าไปให้คำแนะนำ ช่วยพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้สินค้าเป็นที่สนใจ และยังจะช่วยเพิ่มช่องทางการตลาด โดยจะช่วยประชาสัมพันธ์ร้านค้าให้เป็นที่รู้จัก ที่สำคัญ จะผลักดันให้ฟาร์มเอาท์เลต เป็นร้านที่ต้องแวะ ต้องไปเลือกซื้อสินค้า ทั้งซื้อไปกินไปใช้ ไปเป็นของฝาก โดยจะทำการเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดที่ร้านค้าตั้งอยู่” นายสนธิรัตน์ กล่าว

ทั้งนี้ กระทรวงยังมีแผนที่จะเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้กับฟาร์มเอาท์เลต โดยจะทำการเชื่อมโยงสินค้าระหว่างฟาร์มเอาท์เลต และสถานที่อื่นๆ เพื่อให้สินค้ามีช่องทางขายได้เพิ่มขึ้น และจะจัดงานจำหน่ายสินค้าตามเทศกาลต่างๆ เพื่อกระตุ้นยอดขายให้กับฟาร์มเอาท์เลต รวมทั้งจะเข้าไปช่วยต่อยอดให้มีการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผ่านทางออนไลน์ เพื่อขยายตลาดสินค้าจากฟาร์มเอาท์เลตไปทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม ฟาร์มเอาท์เลตที่กระทรวงฯ ได้เข้าไปส่งเสริมนี้ มีฟาร์มเอาท์เลตที่จำหน่ายเฉพาะสินค้าเกษตรอินทรีย์ด้วย โดยปัจจุบันมีอยู่ 16 แห่ง ได้แก่ ที่ลพบุรี 2 แห่ง นครปฐม 4 แห่ง กาฬสินธุ์ 2 แห่ง ที่กาญจนบุรี เพชรบูรณ์ ยโสธร นครราชสีมา ราชบุรี นนทบุรี ชัยภูมิ และ ชลบุรี จังหวัดละ 1 แห่ง ซึ่งกระทรวงฯ จะใช้ออร์แกนิกฟาร์มเอาท์เลตเหล่านี้ เป็นช่องทางในการจำหน่ายให้กับสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ได้เข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรทำ จึงมั่นใจได้ว่าสินค้าเกษตรอินทรีย์ ทั้งพืชผัก และปศุสัตว์ที่ผลิตออกมา จะมีช่องทางการจำหน่ายแน่นอน และในส่วนของเกษตรกรที่ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ได้คุณภาพและมาตรฐานแล้ว ก็มีแผนที่จะผลักดันเข้าไปจำหน่ายในห้างและส่งออกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น