“กระทรวงพลังงาน” เบรกแผนนำเข้าแอลเอ็นจีสัญญาระยะยาวของ ปตท.ในแหล่งโมซัมบิก โดยจะไม่ยื่นขออนุมัติจาก กพช.แต่อย่างใด โดยพร้อมเปิดเสรีให้เกิดการแข่งขันด้านราคาเพื่อประโยชน์ค่าก๊าซฯ ถูกลง ด้าน “ปิยสวัสดิ์” ยันหากรัฐไม่อนุมัติก็พร้อมนำเข้าเองโดยไม่จำเป็นต้องมีสัญญาระยะยาวมั่นใจบริหารได้กำไรเพราะตั้งราคาเองได้
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงานเปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้หารือและแจ้งกับบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ให้รับทราบว่าจะไม่มีการเสนอให้ ปตท.รับซื้อก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) จากแหล่งโมซัมบิก ต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อขออนุมัติแต่อย่างใด เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของ ปตท.ที่จะนำเข้ามาเป็นข้อตกลงของรัฐบาลในการจัดทำเป็นสัญญาซื้อขายระยะยาว เพราะการนำเข้าแอลเอ็นจีในอนาคตควรเป็นรูปแบบของการเปิดเสรีการนำเข้าทั้งหมดเพื่อให้ราคาต่ำ และสะท้อนไปยังค่าไฟฟ้าที่ลดลงเพื่อประโยชน์ของประชาชน
“รมว.พลังงานมีนโยบายให้เกิดการแข่งขันทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นการนำเข้าแบบระยะสั้นหรือระยะยาวก็ตามโดยมองว่าปริมาณก๊าซฯ ในโลกมีมากขึ้น และการแข่งขันก็เริ่มสูง จะเห็นว่าตลาดจรเองราคาก็ต่ำหากนำเข้าได้ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากกว่า และที่ผ่านมา ปตท.เองก็เป็นเสือนอนกินเพราะหากนำเข้าแบบตลาดจรไม่มีสัญญาจากรัฐ แต่ระยะยาวจะมีสัญญาจากรัฐให้ ดังนั้นต่อไปก็ควรต้องเกิดการแข่งขันให้มากขึ้น” แหล่งข่าวกล่าว
ทั้งนี้ ปตท.ได้รายงานต่อกระทรวงพลังงานถึงทิศทางราคาก๊าซแอลเอ็นจีที่ตกลงกับแหล่งโมซัมบิกล่าสุด เป็นราคาที่ต่ำกว่าสัญญาระยะยาวทุกแหล่งที่ไทยทำสัญญานำเข้ามาแล้ว โดยการเจรจากับกลุ่มผู้ผลิตราคาลดลงจากที่เคยเจรจากันกว่า 2 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู เหลือประมาณ 7.43 ดอลลาร์/ล้านบีทียู สัญญาจะมีการซื้อ 20 ปีตั้งแต่ปี เริ่มจากปี 2566-2567 เป็นต้นไป โดย ปตท.เห็นว่าการตกลงราคาในช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะตลาดยังเป็นของผู้ซื้อ แต่หลังจากนี้ไปอีก 3-4 ปีข้างหน้าตลาดจะเป็นของผู้ขาย ในขณะเดียวกัน การนำเข้าก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อการเปิดเสรี และยังเป็นการรองรับอนาคตการผลิตก๊าซจากอ่าวไทยและเมียนมา ลดลงอีกด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมารัฐบาลเปิดให้บุคคลที่ 3 เข้ามาใช้คลังและท่อก๊าซของ ปตท.(Third Party Access )เพื่อให้เกิดการแข่งขัน โดยมีผู้เสนอนำเข้าแอลเอ็นจี เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กลุ่มกัลฟ์ เป็นต้น ซึ่ง กฟผ.ได้รับอนุมัติให้เป็นผู้นำเข้า 1.5 ล้านตันต่อปี ส่วนกัลฟ์ยังไม่ได้รับการอนุมัติ โดยจะต้องรอรอบการเปิดอนุมัตินำเข้าใหม่หลังคลังแอลเอ็นจีแห่งที่ 2 หนองแฟบ เปิดดำเนินการอีก 7.5 ล้านตันในไตรมาส 1/2565 โดยเงื่อนไขสำคัญที่คณะกรรมการกำกับนโยบายพลังงาน (กกพ.) กำหนดไว้ คือ ผู้นำเข้าจะต้องมีสัญญาจำหน่ายก๊าซที่ชัดเจนกับโรงไฟฟ้าต่างๆ
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะกรรมการ บมจ.ปตท.กล่าวว่า หากกระทรวงพลังงานมีแนวคิดจะไม่ให้ ปตท.ในฐานะรัฐวิสาหกิจในสังกัดทำสัญญาระยะยาว (Long Term) เพื่อซื้อก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) จากแหล่งก๊าซโมซัมบิก ทาง ปตท.ก็พร้อมดำเนินการเองในการยืนยันซื้อก๊าซจากแหล่งนี้ในปริมาณเดิมที่ได้แจ้งไว้ คือ 2.6 ล้านตัน/ปี ต่อไป เพราะราคาที่ได้ตกลงล่าสุด นับว่าเป็นราคาที่ดี แข่งขันได้ สามารถจำหน่ายได้ทั้งในและต่างประเทศ
“รัฐบาลไม่อนุมัติก็ใช่ว่า ปตท.จะทำไม่ได้ เพียงแต่ต้องรับความเสี่ยงในการจำหน่ายเอง จากเดิมหากมีสัญญาจะต้องเข้ามายังระบบ Pool ก๊าซฯ และราคาขาย ปตท.เองก็ตั้งราคาได้หากราคาสูงช่วงนั้นก็จะได้กำไร ถ้าต่ำกว่าก็ขาดทุนก็ต้องเสี่ยงก็เชื่อว่า ปตท.จะบริหารทำกำไรได้” นายปิยสวัสดิ์กล่าว