เรียกเสียงฮือฮาได้ไม่น้อย... หลังจากที่ กรมการค้าต่างประเทศ ได้ปล่อยคำว่า NGV ผ่านสื่อโซเซียลมีเดียในช่วง 2-3 สัปดาห์สุดท้ายก่อนหยุดยาวสงกรานต์ ทำให้คนเข้ามาร่วมสนุก มาเดากันว่าคือโครงการอะไร และที่เด็ดสุดเห็นจะเป็นการทายว่าเป็นโครงการขายก๊าซธงฟ้าไปโน่น แต่ก็ไม่ใช่ ส่วนจะเป็นโครงการอะไร มีความสำคัญมากน้อยแค่ไหน มาฟังเฉลยจาก “นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์” อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ที่เป็นผู้คิดค้นโครงการนี้
อะไรคือที่มาที่ไปของโครงการนี้
ที่เราทำโครงการนี้ขึ้นมา เพราะมีปัจจัยภายนอก-ภายในที่ทำให้เราต้องมาทำ โดยคิดว่าต้องทำโครงการเพื่อพัฒนาบุคลากรของกรมฯ ให้ทันกับแรงขับดันจากปัจจัยภายนอก โดยเรื่องใหญ่ๆ เป็นเรื่องของไทยแลนด์ 4.0 ที่เป็นนโยบายรัฐบาลที่มุ่งเน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วยดิจิตอล ซึ่งเราต้องปรับตัวให้ทัน และอีกเรื่องหนึ่ง คือ การมุ่งให้ไทยเป็น Value Based Economy ที่ทำน้อยได้มาก โดยนำเทคโนโลยีและดิจิตอลมาช่วยเป็นแรงขับ
นอกจากนี้ เอกชนยังคาดหวังกับกรมฯ ไว้สูงว่าจะต้องเป็นที่พึ่งของเขาได้ แต่การจะเป็นที่พึ่งของเอกชนในยุคไทยแลนด์ 4.0 กรมฯ ก็ได้มีการพัฒนาและปรับตัวเองไปเป็น DFT 4.0 แล้ว (DFT ชื่อย่อของกรมฯ ในส่วนที่เป็นภาษาอังกฤษ) ซึ่งได้มีการนำระบบเทคโนโลยีมาใช้ในการให้บริการ มีการมุ่งเน้นการสร้างบิ๊กดาต้า เพื่อนำข้อมูลขนาดใหญ่มาวิเคราะห์ใช้ให้เกิดประโยชน์
ทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาของการปรับองค์กรของเราให้ทันสภาวะธุรกิจและไทยแลนด์ 4.0 ถ้าไม่ปรับ ไม่สามารถอำนวยความสะดวกให้กับเอกชนในยุคนี้ได้
มีปัจจัยอะไรอื่นอีกหรือไม่
นอกจากนโยบายรัฐบาลที่มุ่งไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 และการปรับปรุงการทำงานของตัวเองแล้ว มันมีอีกเรื่องที่ต้องแก้ไขก็คือ ภาคราชการถูกแช่แข็งมาเป็น 10 ปี ระบบมีปัญหา เกิดการขาดช่วงของข้าราชการ เพราะก่อนหน้านี้ หยุดรับข้าราชการมาหลายปี ตอนนี้ส่งผลทางลบ เด็กโตไม่ทัน
พูดให้เห็นภาพชัดๆ ก็คือ ปัจจุบันเป็นยุคของคนกลุ่มเบบี้บูมที่กำลังทำงาน แต่ใกล้จะเกษียณ ผมเป็นเบบี้บูมเมอร์ โดยเป็นคนที่เกิดในช่วงปี 2489 แต่ไม่ใช่ผม ถึงปี 2507 พฤติกรรมคนกลุ่มเบบี้บูม เป็นคนทำงาน ประหยัด อดออม รอบคอบ เป็นคนรุ่นผมด้วย อีกรุ่นเจนเอ็กซ์ เกิดมาโชคดีที่โลกมั่งคั่งแล้ว เป็นวัยทำงานเกิดปี 2508-2522 พวกนี้โตกับมาวิดีโอเกม คอมพิวเตอร์ เพลงฮิปฮอป ดูทีวีขาวดำทัน โดยคนเจนเอ็ก ชอบอะไรง่ายๆ ไม่ทางการ เป็นตัวของตัวเองสูง มีความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งกรมฯ ก็มีคนเจนเอ็กซ์อยู่เป็นจำนวนมาก
แต่ที่เรากำลังให้ความสำคัญ คือ คนกลุ่มเจนวาย เป็นคนปี 2523-2540 คนยุคนี้กำลังโต เกิดมาในยุคเทคโนโลยี จะเจริญก้าวหน้า ชอบไอที มีความคิดสร้างสรรค์ ทำอะไรได้หลายอย่าง มองโลกแง่ดี แต่ไม่ค่อยอดทน ส่วนเจนแซด เกิดปี 40 ขึ้นไป ยังไม่มาทำงาน แต่เริ่มๆ มีเข้ามาทำงานบ้างแล้ว
สรุป NGV เราเกิดขึ้นเพราะคำนึงปัจจัยภายนอก ภายใน 2 อันมารวมกัน ภายนอกกระตุ้นให้เราปรับตัว ทั้งไทยแลนด์ 4.0 และการสร้างมูลค่าเพิ่ม ด้วยการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และเข้าสู่ยุคดิจิทัล ทำให้กรมฯ มีแนวคิด DFT 4.0 รองรับ
ก่อนที่จะมาเป็นโครงการ NGV
การสร้างคนรุ่นใหม่ เพื่อเตรียมคนให้เข้าสู่ระบบการทำงาน เรามีความตระหนักรู้ปัญหานี้ ตั้งแต่นางดวงพร รอดพยาธิ์ เป็นอธิบดี เมื่อ 4 ปีก่อน ไม่รู้ว่าที่อื่นทำอะไร แต่ที่กรมฯ ผู้บริหารทำแผนช่วยกันวางตัวผู้บริหารมาตั้งแต่ 4 ปีก่อน เรียกกันเองว่า ผู้บริหารที่เป็นนักเรียนเตรียม เป็นโรงเรียนเตรียมผู้บริหาร เดิมคือ ซี 8 ปัจจุบัน คือ ชำนาญการพิเศษ เราเตรียมความพร้อมให้คนกลุ่มนี้ไว้แล้ว เรียกว่าเป็นแผงที่ 1 ที่จะผลักดันขึ้นสู่ผู้บริหารไปจนถึงเป็นอธิบดี วางไว้แล้ว ปัญหาบุคลากร ที่จะเป็นผู้บริหาร ไม่มีปัญหา อธิบดีดวงพร วางไว้อย่างดียิ่ง แผงที่ 1 เราจบ หายใจได้อีก 5 ปีเป็นอย่างน้อย
จากนั้น จึงมาคิดถึงผู้บริหารระดับรอง เป็นที่มาของการทำลุกขึ้นมาทำ NGV เป็นแผง 2 มุ่งไปที่คนกลุ่มเจนวาย เป็นคนระดับชำนาญการ ถ้าสมัยเดิม ซี 6 ซี 7 ขณะนี้เกิดการทิ้งช่วง ต้องวางเพื่อให้เป็นผู้บริหาร เป็นรองอธิบดี เป็นผู้อำนวยการ วางไว้เพื่อพัฒนาให้เป็นผู้บริหารแผง 2 ก่อนไปแผง 1 ต่อไป
แนวทางการสร้างผู้บริหารรุ่นใหม่เป็นอย่างไร
เราทำหลักสูตรขึ้นมาเพื่อพัฒนาคนรุ่นใหม่ที่เป็นชำนาญการ เบื้องต้นคัดเลือกมาไม่เกิน 40 คน เพื่อเตรียมพัฒนา สร้างเป็นผู้บริหารรุ่นใหม่ เน้นการสร้างคนคุณภาพ ที่มีความคิดสร้างสรรค์ ผสมผสานยุทธศาสตร์ ทำงานเป็นทีม ใช้ประโยชน์ข้อมูลสารสนเทศ นวัตกรรม และเป็นผู้นำในการตัดสินใจ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เป้าหมาย NGV เป็นโครงการที่เป็นรูปธรรมที่จะสร้างผู้นำรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ สาเหตุที่ต้องทำแบบนี้ เพราะในกรมฯ มีคนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านสูง เก่งด้านธัญพืช มันสำปะหลัง มาตรการทางการค้า ค้าชายแดน สินค้าชนิดต่างๆ ทำให้ธรรมชาติการทำงานเป็นไซโล โตเป็นแท่ง แต่ NGV จะเน้นสร้างความรู้ให้คนรุ่นใหม่ นอกจากรู้แต่ละไซโลแล้ว อยากให้รู้หลายๆ ไซโล เพื่อการหมุนเวียนต่อไปในอนาคต จะทำหลักสูตรเพิ่มเติมความรู้ ให้นำมาใช้ประโยชน์ได้
หลักสูตรที่จะทำ จะผลักดันให้คนรุ่นใหม่ให้โตมาแบบมีความรู้ในหลายๆ เรื่อง ไม่ใช่ทำเอดี ซีวีดี (มาตรการป้องกันการทุ่มตลาดและการอุดหนุน) ก็พูดได้แค่เรื่องนี้ ต้องพูดเรื่องอื่นได้ จีเอสพี (สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร) ใบซีโอ (ใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า) ก็ต้องพูดได้
นอกจากนี้จะให้ความสำคัญกับการสร้างคนที่รู้ทันโลก ต้องเชี่ยวชาญโซเซียลมีเดีย มีศักยภาพด้านการสื่อสาร ไม่ใช่ทำงานเงียบๆ โดยที่ลูกค้าไม่รู้ว่าเราทำอะไร เพราะการสื่อสารจะนำมาซึ่งความเข้าใจระหว่างเรากับภายนอก และยังจะเน้นการสอนให้มีความคิดเชิงยุทธศาสตร์ การเจรจาต่อรอง เพิ่มทักษะในการเจรจาต่อรอง สอนให้มีทักษะการเป็นโค้ช เพื่อให้ไปสอนผู้ใต้บังคับบัญชาต่อ และสุดท้ายที่สำคัญ การตัดสินใจ จะสอนให้เก่ง กล้า สามารถ เพราะเก่งอย่างเดียวแต่ไม่กล้า ไม่มีประโยชน์ หรือเก่งและกล้า แต่ไม่มีความสามารถก็ไม่มีประโยชน์ จะเน้นให้ทั้งเก่ง กล้า และสามารถ เป็นสิ่งที่เรากำลังจะทำให้เกิดขึ้นกับองค์กรนี้