“กสอ.” จัดทัพผู้ประกอบการไทยทดลองตลาดในจีนดึงสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ 10 รายจากกลุ่มเครือข่ายสินค้าอินทรีย์ (BOIN) ที่เน้นเครื่องสำอางอินทรีย์ ร่วมงานแสดงสินค้า The China International Organic and Green Food Industry Expo 2018 ครั้งที่ 22 ที่กรุงปักกิ่งเป็นครั้งแรก สุดปลื้มสินค้าไทยได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จีนอยากให้ร่วมงานอีก
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 8-10 เมษายน 2561ที่ผ่านมาได้นำผู้ประกอบการใหม่ (สตาร์ทอัพ) ภายใต้เครือข่าย Bangkok Organic Industrail Network (BOIN) หรือกลุ่มเครือข่ายสินค้าอินทรีย์ที่เน้นเครื่องสำอางอินทรีย์ จำนวน 10 รายเข้าร่วมงานแสดงสินค้า “The China International Organic and Green Food Industry Expo 2018 ครั้งที่ 22” ณ ศูนย์นิทรรศการนานาชาติ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ถือเป็นครั้งแรกที่ไทยเข้าร่วมงานดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อสร้างโอกาสและขยายช่องทางตลาดธุรกิจเพิ่มขึ้นให้กับผู้ประกอบการไทย
“กสอ.ส่งเสริมรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายภายใต้ BOIN ที่เน้นเครื่องสำอางอินทรีย์ 40 ราย แต่ กสอ.ได้ดึงมา 20 รายพัฒนาแล้วคัดเหลือ 10 รายที่เข้ามาร่วมงานครั้งนี้ซึ่งเราได้ซื้อบูทและสนับสนุนค่าขนส่งสินค้าใช้งบแค่ 2 ล้านบาท เพื่อเป็นการทดลองตลาดส่งออกได้รับรายงานอย่างไม่เป็นทางการว่าประสบความสำเร็จค่อนข้างดี และทางผู้จัดงานเองต้องการให้ไทยเข้าไปร่วมงานดังกล่าวในคราวต่อไป โดยชมว่าบูทของไทยจัดได้น่าสนใจ” นายกอบชัยกล่าว
ปัจจุบัน กสอ.ได้ส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มเป็นคลัสเตอร์แล้วกว่า 80 คลัสเตอร์ และ กสอ.เตรียมผลักดันให้กลุ่มดังกล่าวเป็นคลัสเตอร์เครื่องสำอางอินทรีย์เนื่องจากเทรนด์ของโลกสินค้าอินทรีย์ออแกนิก (Organic Products) กำลังมาแรง โดยผู้นำตลาดขณะนี้คือประเทศเยอรมนี นอกจากนี้ เครื่องสำอางอินทรีย์ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรซึ่งไทยมีความเข้มแข็ง ตัวอย่างผู้ประกอบการที่มาออกบูทครั้งนี้มีทั้งการทำสเต็มเซลล์จากข้าวหอมมะลิมาทำครีมทาผิว ครีมทาผิวที่สกัดจากอะโวคาโด ซึ่งมองว่าต่อไปจะต้องส่งเสริมให้เกิดโรงงานสกัดน้ำมันจากอะโวคาโดเพิ่มขึ้น เป็นต้น
นายศิริพัฒน์ มีทับทิม กรรมการผู้จัดการ บ.ช่อคูณเรมีดี้ จำกัด ในฐานะประธาน BOIN กล่าวว่า การรวมกลุ่มเพราะเห็นว่าสินค้าอินทรีย์กำลังมาแรงและยังมีโอกาสเติบโตได้มากทั้งในไทยและตลาดโลกและเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรไทย อย่างไรก็ตาม ต้องการให้รัฐหาช่องทางการตลาดและสื่อสารให้ผู้บริโภคได้รับรู้มากขึ้น
“ผมผลิตสินค้าเป็นสบู่และยาสีฟันภายใต้แบรนด์ CHORKOON เป็นสูตรที่สกัดมาจากต้นราชพฤกษ์หรือต้นคูน เรามาปักกิ่งครั้งนี้เพื่อเป็นการดูทิศทางตลาดต่างประเทศว่าเป็นอย่างไรซึ่งสินค้าไทยในประเทศเพื่อนบ้านเราถูกยอมรับค่อนข้างดี โดยผมเองมีเป้าหมายที่จะส่งออกในปี 2562” นายศิริพัฒน์กล่าว
น.ส.วีรวรรณ นทกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บ.โนวัส อินเตอร์เทรด จำกัด ผู้ผลิตยาสีฟันยี่ห้อเดนตาเมท (Denta mate) กล่าวว่า บริษัทฯ ได้มาแสดงสินค้าที่จีน 3 ครั้งแต่ปักกิ่งเป็นครั้งแรกซึ่งตลาดจีนตอบรับดีมากเนื่องจากยาสีฟันของเราเป็นสมุนไพรที่มีคุณสมบัติดูแลเหงือกซึ่งคนจีนจะสูบบุหรี่จัดจะเป็นสูตรที่เหมาะ และสินค้าผ่านการรับรองมาตรฐาน เช่น GMP และISO 22716 จึงมั่นใจในคุณภาพสินค้า หลังจากที่ได้ทดสอบตลาดในประเทศไทย ลาว กัมพูชา และพม่า มีผลตอบรับที่ดี โดยปัจจุบันมีสัดส่วนยอดขายในต่างประเทศราว 2% จากรายได้รวมประมาณ 30-40 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ยปีละ 20% หลังจากทำตลาดมา 5-6 ปี
“มองว่าการทำตลาดต่างประเทศไม่ว่าคุณภาพสินค้าจะดีระดับใด ก็ไม่สำคัญเท่าการได้มาตรฐานสินค้าในต่างประเทศ ซึ่งภาครัฐควรเข้ามาผลักดันในเรื่องนี้ รวมถึงช่วยคัดกรองคู่ค้าที่ดี ที่จะเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าร่วมกันในอนาคต”
นางฐานิกา บุญวัฒนาภรณ์ กรรมการผู้จัดการ บ.เจวันคอสเมติก ผู้ผลิตครีมทากันส้นเท้าแตกยี่ห้อ ROBECA สกัดจากสมุนไพรที่เน้นขมิ้นชัน และมังคุด กล่าวว่า มาจัดบูทที่จีนครั้งแรกเพื่อหาช่องทางการขายใหม่ๆ แต่ที่เวียดนามบริษัทได้ตัวแทนจำหน่ายแล้วกำลังดีลอยู่
“ปัญหาใหญ่ของธุรกิจไทย คือ สินค้าไทยคนไทยไม่ชอบ ทั้งที่เพื่อนบ้านชอบสินค้าไทยและเชื่อถือมาก” นางฐานิกากล่าว
นายทัตภณ จีรโชตินันท์ ประธานกรรมการ บริษัท วธุธร จำกัด ผู้ผลิตเครื่องสำอางภายใต้แบรนด์ HERBALIST SIAM กล่าวว่า การเข้าร่วมเป็นเครือข่าย BOIN ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการพัฒนาสินค้า สามารถนำมาต่อยอดการผลิตเครื่องสำอางที่ใช้สินค้าเกษตรแปรรูปเป็นวัตถุดิบหลัก โดยใช้จุดเด่นจากข้าวไทยที่เป็นสินค้าส่งออกเบอร์ 1 ในตลาดโลก มาเข้ากระบวนการสกัดสเต็มเซลล์จากข้ามหอมมะลิแดงใน จ.สุรินทร์ ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นสินค้าออแกนิก ผลิตเป็นสกินแคร์ชนิดต่างๆ เช่น สบู่ใส ครีมทาผิว เป็นต้น ขณะที่โรงงานผลิตและสินค้าได้ผ่านการรับรองมาตรฐานจาก อย., มาตรฐานGMP, ISO 22716 และ ISO 9100 เป็นต้น ทำให้มั่นใจในคุณภาพสินค้าและพร้อมเจาะตลาดต่างประเทศ
“เรานำแบรนด์ HERBALIST SIAM มาเปิดตัวที่จีนเป็นประเทศแรก เนื่องจากจีนเป็นตลาดใหญ่มีความก้าวหน้าในการผลิตสินค้าออแกนิก มีความเข้าใจเกี่ยวกับสินค้า และเป็นที่นิยมก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี” นายทัตภณกล่าว