ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก SPP (ชีวมวล) ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน ขอให้ปรับเปลี่ยนสัญญาซื้อไฟฟ้า จาก ADDER เป็น FIT ด้าน รมว.พลังงาน ย้ำต้องไม่เป็นเพิ่มภาระค่าไฟฟ้าแก่ประชาชน
นายนที สิทธิประศาสน์ ประธานชมรมผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก SPP (ชีวมวล) และผู้ประกอบการโรงไฟฟ้า SPP กว่า 25 โรง ได้เดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาล และกระทรวงพลังงาน ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี และนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เรียกร้องขอความเป็นธรรมในการกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้า เนื่องจากขณะนี้ SPP จำนวน 31 โรงได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก เพราะก่อนหน้านี้รัฐบาลได้เปลี่ยนสัญญาให้แก่ผู้ประกอบการรายเล็กมาก (วีเอสพีพี) ชีวมวล เปลี่ยนจากการอุดหนุนแบบ ADDER เป็น FIT ในราคา 4.24 บาท/หน่วย ทั้งที่ เป็นสัญญาแบบ NON-FIRM แต่เอสพีพีชีวมวลเป็นสัญญา FIRM มีบทปรับหากผลิตไฟฟ้าไม่ได้ ดังนั้นจึงเสียเปรียบในการแข่งขัน และเนื่องจากสัญญาราคาของเอสพีพีชีวมวล ผูกกับเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันเตา ถ่านหิน ซึ่งราคาตกต่ำ รายได้ก็ต่ำกว่า กระทบฐานะการเงินอย่างหนัก
ทั้งนี้ ทางชมรมฯ จึงขอความเป็นธรรมด้านราคารับซื้อไฟฟ้า ทางสมาคมฯ ได้มีความเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ มีนาคม 2560 และล่าสุดมีมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และ ครม.ให้แนวทางมาแล้ว แต่เรื่องกลับเงียบไป ทางสมาคมฯ จึงต้องออกมาเคลื่อนไหว ขณะนี้หลายรายอยู่ในช่วงเวลาต้องคืนหนี้แก่ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ หากเป็นเช่นนี้ก็กระทบต่อรายได้ และการคืนหนี้ ซึ่งหลักการที่เสนอก็เป็นหลักการเดียวกับวีเอสพีพี นั่นคือดูถึงรายได้ตลอดอายุสัญญา 20 ปี โดยการเปลี่ยนแปลงสัญญาจะพิจารณาวงเงินอายุสัญญาเป็นหลัก เช่น กรณีสัญญาเดิม 20 ปี มีรายได้รวม 1,000 ล้านบาท สัญญาที่จะเปลี่ยนแปลงใหม่ก็จะได้วงเงินเท่าใด แต่ลดระยะเวลาสัญญาลง ไม่ถึง 20 ปี
“เรื่องนี้ผ่านการพิจารณาไปแล้วระดับหนึ่ง ก็เหลือแต่ขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ก็หวังว่า กพช. 23 เม.ย.นี้จะพิจารณา เพราะหากไม่ช่วย ผู้ประกอบการคงอยู่ไม่ได้” นายนทีกล่าว
นายศิริกล่าวว่า หลักการพิจารณารับซื้อไฟฟ้าในอนาคตนั้นจะพิจารณาไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน เพราะพลังงานทดแทนในขณะนี้ซื้อรวมๆ ประมาณ 1 หมื่นเมกะวัตต์ จากที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศอยู่ที่ประมาณ 3 หมื่นเมกะวัตต์ มีสัดส่วนราว 1 ใน 3 ของการใช้ไฟฟ้า และมีต้นทุนในค่าไฟฟ้าอัตโนมัติประมาณ 20-25 สตางค์ต่อหน่วย เป็นภาระระยะยาว 10-20 ปี หรือมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 10 ของค่าไฟฟ้า โดยนโยบายก็ต้องการส่งเสริมด้วยการรับซื้อพลังงานทดแทนเป็นอันดับแรกๆ แต่สิ่งสำคัญคือ ผลิตแล้วต้นทุนจะต้องไม่เกินค่าไฟฟ้าขายส่งที่ประมาณ 2.40 บาท/หน่วย
กรณีเอสพีพีชีวมวลที่เสนอมาก็จะพิจารณาทบทวน โดยใช้หลักการต้นทุนเป็นหลักว่าซื้อแล้วเพิ่มภาระต่อประชาชนหรือไม่ ดังนั้น ขณะนี้จึงตอบไม่ได้ว่าจะพิจารณาตามมติ กบง.เดิมหรือไม่