“อุตตม” กางแผนพัฒนา Bioeconomy เฟส 2 ไปยังพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง (จ.นครสวรรค์ และกำแพงเพชร) กับอีสานกลาง จ.ขอนแก่น ส่วนต่อขยายจากอีอีซี สร้างรายได้ให้เกษตรกรทั้งอ้อย มันสำปะหลัง ปาล์ม เอกชนตบเท้าลงทุนพรึบทั้ง ปตท. มิตรผล คริสตอลลา ซีพีเอฟ เบทาโกร ฯลฯ คาด 10 ปีเม็ดเงินลงทุนรวมทุกพื้นที่กว่าแสนล้านบาท
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปลายเดือนเมษายนนี้จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเห็นชอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ หรือ Bioeconomy ที่ขยายจากเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ไปยังพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง (จ.นครสวรรค์-กำแพงเพชร) และอีสานตอนกลาง จ.ขอนแก่น ที่จะมีแผนการลงทุนจากภาคเอกชนแบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะแรกปี 2560-64 และระยะที่ 2 ช่วงปี 2565-69 อย่างไรก็ตาม การพัฒนาโครงการดังกล่าวไม่จำเป็นต้องประกาศเป็นพื้นที่ส่งเสริมพิเศษ โดยสามารถใช้สิทธิประโยชน์การลงทุนตามประเภทกิจการที่สำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ดำเนินการอยู่ได้ทันที
“การประชุมแผนพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพในคณะกรรมการพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (ดี 5) ได้สรุปภาพรวมของแนวทางการพัฒนาแล้วในกรอบหลักโดยเฉพาะการโฟกัสที่เกี่ยวข้องอุตสาหกรรมชีวภาพเป็นสำคัญที่จะต่อยอดมูลค่าสินค้าเกษตรในพื้นที่ เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์ม เป็นต้น ที่จะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตรของไทย ซึ่งแผนทั้งหมด 10 ปีนี้จะทำให้ผลผลิตของเกษตรกรโต 10% รายได้เกษตรกรเพิ่มเป็น 8.5 หมื่นบาทต่อปีต่อคน การจ้างงานเพิ่มขึ้นกว่า 8 แสนครัวเรือนและจะเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรได้อีก 4 แสนล้านบาทต่อปี” รมว.อุตสาหกรรมกล่าว
สำหรับเม็ดเงินการลงทุนในอุตฯ ไบโอชีวภาพรวมกับการลงทุนพื้นที่อีอีซีปี 2560-64 เม็ดเงินประมาณ 1.3 แสนล้านบาท ปี 2565-69 เม็ดเงินลงทุน 6.8 หมื่นล้านบาท โดยในส่วนของภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่ จ.นครสวรรค์ ช่วงปี 2565-64 คาดจะเกิดการลงทุน 41,000 ล้านบาท เช่น การลงทุนไบโอคอมเพล็กซ์ของกลุ่มน้ำตาลเกษตรไทยกับ บมจ.โกลบอลกรีนเคมิคอล (GGC) มูลค่า 10,000 ล้านบาท และมีกิจการอื่นๆ เช่น กรดแลกติกสำหรับอาหาร ฯลฯ ที่มีพันธมิตรร่วมลงทุนหลัก เช่น ปตท. มิตซูบิชิเคมิคอล ซูมิโตโมเคมิคอล เนเจอร์เวิร์ค ฯลฯ
จังหวัดกำแพงเพชรปี 2560-64 คาดว่าจะลงทุนประมาณ 8,000 ล้านบาท เช่น การผลิตยีสต์แห้ง 1,000 ล้านบาท เบตากลูแคน สำหรับอุตสาหกรรมอาหาร 3,000 ล้านบาท ฯลฯ กลุ่มนักลงทุนที่สำคัญคือ บ.คริสตอลลา จำกัด ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาล ขณะที่ปี 65-69 คาดลงทุน 2,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำตาลเพื่อสุขภาพ
ภาคอีสานตอนกลาง จังหวัดขอนแก่น ปี 2560-65 คาดลงทุน 29,705 ล้านบาท เช่น การสร้างนิคมอุตสาหกรรมไบโออีโคโนมี 20,000 ล้านบาท ยีสต์แห้ง เนไซม์ไฟเตส สำหรับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ฯลฯ เป็นการลงทุนของกลุ่มมิตรผลร่วมกับพันธมิตร เช่น เบทาโกร ซีพีเอฟ เป็นต้น