นกแอร์ปลื้มมีกำไรในรอบ 3 เดือน (ธ.ค. 60-ก.พ. 61) กว่า 104 ล้าน จากปีก่อนที่ขาดทุนกว่า 317 ล้าน ขณะที่ลดค่าใช้จ่ายค่าซ่อมบำรุงเครื่องบินลงได้กว่า 31% เส้นทางจีนดันรายได้โต มั่นใจแผนฟื้นฟูถูกทาง ตั้งเป้าปี 61 รายได้แตะ 1.68 หมื่นล้าน เพิ่มจากปีก่อน 2.8 พันล้าน ขนผู้โดยสารเพิ่มเป็น 9 ล้านคน
นายปิยะ ยอดมณี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผลประกอบการของนกแอร์ในช่วง 3 เดือน (ธันวาคม 2560 ถึงกุมภาพันธ์ 2561) มีรายได้ 4.37 พันล้านบาท เพิ่มสูงขึ้น 12.3% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยมีผลกำไรสุทธิอยู่ที่ 104.71 ล้านบาท ซึ่งปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีผลขาดทุน 317.60 ล้านบาท มีปริมาณผู้โดยสาร 2.54 ล้านคน เพิ่มขึ้น 4.1% และมีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 93% จาก 86% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่มีค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงรักษาเครื่องบินลดลง 31.6% ดังนั้นค่าซ่อมบำรุงรักษาเครื่องบินจะเทียบเท่าเป็น 16% ของต้นทุนรวมของสายการบิน ซึ่งลดลงจากเดิมที่อยู่ระดับ 23% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยมีอัตราการใช้เครื่องบินต่อลำเพิ่มขึ้น 23.1% หรือคิดเป็น 9.96 ชั่วโมงปฏิบัติการการบินต่อวันเพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีอัตราการใช้เครื่องบินต่อลำอยู่ที่ 8.09 ชั่วโมงปฏิบัติการการบินต่อวัน
ส่วนปริมาณผู้โดยสารในเส้นทางบินจีนเพิ่มขึ้น 182.9% หรือจาก 83,190 คน เป็น 235,303 คน นับตั้งแต่ที่สายการบินได้เร่งขยายธุรกิจเช่าเหมาลำในเส้นทางบินระหว่างประเทศจีนกับประเทศไทย
จากตัวเลขเบื้องต้นแสดงให้เห็นถึงการที่สายการบินได้มีการแก้ไขตัวแปรที่สำคัญในหลายจุด ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนกระบวนการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมไปถึงการลดต้นทุนต่างๆ และการขยายเส้นทางบิน แม้ว่าราคาน้ำมันเชื้อเพลิงจะมีการปรับตัวสูงขึ้นก็ตาม
รวมถึงความพยายามของนกแอร์ที่จะฟื้นความแข็งแกร่งทางการเงิน ตามแผนฟื้นฟูนั้น จะเริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น
นายปิยะกล่าวว่า ในปีนี้ (2561) นกแอร์ตั้งเป้าเพิ่มรายได้จากปีก่อนอีก 2.8 พันล้านบาท เป็น 1.68 หมื่นล้านบาท โดยการเพิ่มจำนวนผู้โดยสารจาก 8 ล้านคน เป็น 9 ล้านคน และเพิ่มอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสารจาก 86% เป็น 93%
อย่างไรก็ตาม การลดลงของค่าซ่อมบำรุงรักษาเครื่องบินที่เกิดขึ้นในช่วงดังกล่าวเป็นผลมาจากการบริหารจัดการที่ดีขึ้น โดยให้ความสำคัญในเรื่องของความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือของเครื่องบิน ซึ่งความปลอดภัยของผู้โดยสารถือเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกและเป็นหัวใจของการให้บริการของนกแอร์
“แม้ว่าภาวะการดำเนินงานในปัจจุบันนั้นค่อนข้างยากลำบาก ซึ่งเกิดจากสภาวะการแข่งขันกันในตลาดที่รุนแรงและราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่ก็เชื่อมั่นว่าในปี 2561 นี้สายการบินจะสามารถดำเนินธุรกิจให้เป็นไปตามแผนการที่ได้วางไว้” นายปิยะกล่าว