xs
xsm
sm
md
lg

“สิงห์” ปั้น “สิงห์เวนเจอร์” รุกถือหุ้นสตาร์ทอัพ ทุ่ม 25 ล้านเหรียญลงทุน 2 กองทุนเอเชีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภูริต ภิรมย์ภักดี
ผู้จัดการรายวัน 360 - “สิงห์” ส่ง “สิงห์ เวนเจอร์” ลงทุนธุรกิจสตาร์ทอัพ ขวบปีแรกใช้ไปแล้ว 25 ล้านยูเอสใน 2 กองทุนเอเชีย หลังจากนี้มุ่งกองทุนและสตาร์ทอัพทั้งในและต่างประเทศ หวังนำความรู้ปรับองค์กรสู่การเปลี่ยนแปลงในอนาคต

นายภูริต ภิรมย์ภักดี ประธานกรรมการบริหาร Singha Ventures บริษัท บุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด เปิดเผยว่า ธุรกิจสตาร์ทอัพถือเป็นหนึ่งในธุรกิจแห่งอนาคตที่น่าสนใจ เพราะสตาร์ทอัพมีแนวคิดแปลกใหม่ ตอบสนองการใช้ชีวิตในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ด้วยโมเดลทางธุรกิจที่แตกต่าง แต่เจาะตลาดใหญ่ได้ ที่สำคัญสร้างการเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว กลายเป็นบริษัทขนาดใหญ่ในระยะเวลาอันสั้น ส่งผลให้ในปี 2560 บริษัทได้จัดตั้ง “Singha Ventures” ธุรกิจเงินร่วมทุน (Venture Capital Fund หรือ CVC) มีบทบาทในการเป็นผู้สนับสนุนการลงทุนในนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ของกลุ่มสตาร์ทอัพดาวรุ่งระดับโลกเพื่อสร้างประโยชน์ร่วมกันในอนาคต

โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่สิงห์ เวนเจอร์ ให้ความสนใจเข้าไปลงทุน 3 กลุ่ม คือ 1. อาหาร หรือสินค้าอุปโภคบริโภค 2. รีเทลและลอจิสติกส์ หรือเทคโนโลยีในการจัดการห่วงโซ่การผลิต ด้านการขนส่งและจำหน่ายสินค้า 3. อินเตอร์ไพรส์ โซลูชัน หรือการลงทุนในระบบหรือโปรแกรมต่างๆ

รวมถึงการลงทุนธุรกิจอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ธุรกิจด้านสุขภาพ เทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีสำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และอินเทอร์เน็ตออฟทิงส์ เป็นต้น และการลงทุนจะโฟกัสธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีโมเดลชัดเจน มีตลาดและมีรายได้แล้ว และมีความเป็นไปได้ในการเข้าไปลงทุนในระดับ Seed Funding stage หากธุรกิจดังกล่าวเป็นไอเดียที่โดดเด่น และอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีสามารถนำมาพัฒนาต่อยอด เสริมศักยภาพองค์กรสิงห์ได้ และเป็นประโยชน์ต่อพันธมิตรควบคู่กัน

ในปี2560 บริษัทได้ใช้งบกว่า 25 ล้านยูเอสในการเข้าไปลงทุนใน 2 กองทุน คือ 1. Kejora Ventures แพลตฟอร์มระบบนิเวศทางเทคโนโลยี ประเทศอินโดนีเซีย ที่มีการลงทุนในธุรกิจแล้ว 29 ธุรกิจ และ 2. Vertex Ventures จากสิงคโปร์ มีเครือข่ายและประสบการณ์ในวงการเทคโนโลยี และเวนเจอร์ แคปปิตอล ซึ่งขณะนี้มีอัตราการเติบโตเร็วมาก 2-3 เท่าตัวแล้ว

นายภูริกล่าวต่อว่า ในเอเชียมีเพียง 3 กองทุนใหญ่ด้านสตาร์ทอัพ คือ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และจีน ซึ่งสิงห์ เวนเจอร์ ได้เข้าไปร่วมทุนแล้ว 2 ประเทศ หลังจากนี้จะมองหากองทุนสตาร์ทอัพใหม่ เช่น 500 ตุ๊กตุ๊ก ที่เป็นของซิลิกอน วัลเลย์ สหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ มองว่าอยากให้ไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศในการเป็นฮับของกองทุนสตาร์ทอัพต่อไป ซึ่งนอกจากมุ่งลงทุนในกองทุนแล้ว ปีนี้จะมุ่งในตัวธุรกิจสตาร์ทอัพโดยตรงกับบรรดาสตาร์ทอัพดาวรุ่งในกลุ่มซีรีส์เอ หรือกลุ่มที่เริ่มรับรู้รายได้ ในฐานะพาร์ตเนอร์ ภายใต้การเข้าไปลงทุนเบื้องต้นที่ 25% ก่อน

“โอกาสและรายได้ของการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพมีสูงมาก ขณะเดียวกันถือเป็นการเปิดตลาดและนำความรู้และเทคโนโลยีต่างๆ เหล่านั้นกลับมาใช้กับองค์กร เพื่อการเตรียมตัวและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตที่จะเกิดขึ้น เช่น เทคโนโลยีในการผลิตเบียร์แบบใหม่ๆ หรือรูปแบบการเข้าถึงผู้บริโภคที่อาจส่งผลกระทบต่อยอดขาย ภายใต้ความสะดวกและง่ายในการใช้ชีวิตประจำวันของผู้บริโภค” นายภูริตกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น