พพ.จับมือสภาวิศวกร ยันกฎกระทรวงฯ BEC ช่วยกลุ่มอาคารประหยัดได้จริง 10% ชี้กลุ่มผู้ประกอบการคอนโดฯ กระทบต้นทุนก่อสร้างเพียงเล็กน้อยแต่คุ้มทุนได้เร็ว พร้อมได้ประโยชน์หลายต่อ สร้างภาพลักษณ์ที่ดีและช่วยประเทศประหยัดพลังงาน
นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า กรณีที่กระทรวงพลังงานเตรียมเสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดประเภท หรือขนาดของอาคาร และมาตรฐาน หลักเกณฑ์และวิธีการในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.…. (Building Energy Code : BEC) ที่เบื้องต้นจะมีการบังคับใช้ได้ในเดือนตุลาคม 2561 นี้ พพ.ขอยืนยันว่า ตามเป้าหมายของกฎกระทรวงฯ BEC นี้จะช่วยให้กลุ่มอาคารที่ดำเนินการสามารถประหยัดพลังงานได้ขั้นต่ำ 10% และสามารถคืนทุนจากการลงทุนติดตั้งอุปกรณ์ประหยัดพลังงานได้เฉลี่ยภายใน 3 ปีจะไม่กระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ โดย พพ.คาดว่าตามกฎกระทรวงฯ BEC จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการดำเนินการเพียงเล็กน้อยประมาณ 5%
ทั้งนี้ จากกรณีที่มีผู้ประกอบการภาคเอกชนบางราย ได้ระบุว่า กฎกระทรวงฯ BEC จะทำให้ต้นทุนก่อสร้างเพิ่มสูงขึ้นถึง 40% นั้นน่าจะเกิดความคลาดเคลื่อน เพราะ BEC จะบังคับในการติดตั้งระบบอุปกรณ์ประหยัดพลังงานในระดับมาตรฐานเบื้องต้นไม่ได้เป็นระดับมาตรฐานอาคารเขียวของสหรัฐอเมริกา หรือ LEED (Leadership in Energy and Environmental Design) ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับสูงซึ่งมองมากกว่ามิติด้านพลังงานที่จะมีการลงทุนสูงจากอุปกรณ์ที่มีความต้องการประหยัดพลังงานเข้มเข้น ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นอาคารที่สมัครใจดำเนินการเองและมีเป้าหมายที่จะคว้ารางวัลโดยตรง
“ร่างกฎกระทรวง BEC ได้มีการชี้แจงและหารือร่วมกับทุกภาคส่วนมาอย่างต่อเนื่องหลายปี เพื่อให้ทุกฝ่ายมีความพร้อมในการเตรียมตัวเพื่อส่งเสริมการออกแบบ การรับรองแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานที่เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ซึ่งขณะนี้ได้รับความร่วมมือจากทั้งกลุ่มผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ อาคารที่อยู่อาศัย เช่น กลุ่มลุมพินี กลุ่มพฤกษาเรียลเอสเตท บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเมนท์ บ.นารายณ์พร็อพเพอร์ตี้ ฯลฯ รวมไปถึงความร่วมมือกับสภาวิศวกร กับสภาสถาปนิก เป็นต้น” นายประพนธ์กล่าว
นายกมล ตรรกบุตร นายกสภาวิศวกร กล่าวเสริมว่า ร่างกฎกระทรวง BEC ดังกล่าวที่เตรียมจะบังคับแม้ว่าจะส่งผลให้เกิดการลงทุนติดตั้งอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการประหยัดพลังงานที่เพิ่มขึ้น แต่ควรมองในแง่ของการประหยัดที่จะได้รับกลับมาด้วย ซึ่งภาพรวมแล้วจะมีความคุ้มทุนแน่นอน ขณะเดียวกัน ปัจจุบันกระแสของการอนุรักษ์พลังงานก็ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว โดยต้นทุนที่จะสูงขึ้นนั้นขึ้นอยู่กับการออกแบบและพื้นที่ จึงประเมินได้ยากว่าจะระดับใดแต่ภาพรวมไม่มากภายใต้ BEC นี้เพราะไม่ใช่ระดับเข้มข้นเป็นระดับมาตรฐานพื้นฐานที่สอดรับกับสากล แต่การประหยัดพลังงานเป็นสิ่งที่จะได้รับกลับมาจากการลงทุนจึงต้องมองในมุมนี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม กฎกระทรวงฯ BEC ดังกล่าวจะบังคับใช้กับอาคารที่จะก่อสร้างใหม่หรือดัดแปลง 9 ประเภทอาคาร ได้แก่ สถานพยาบาล สถานศึกษา สำนักงาน อาคารชุด อาคารชุมนุมคน (หอประชุม) โรงมหรสพ โรงแรม อาคารสถานบริการ และอาคารศูนย์การค้าหรือห้างสรรพสินค้าที่มีขนาดพื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป โดยจะต้องออกแบบอาคารภายใต้เกณฑ์ที่ระบุในกฏกระทรวง เช่น ระบบปรับอากาศ ไฟฟ้าแสงสว่าง ผลิตน้ำร้อน การใช้พลังงานหมุนเวียน ฯลฯ โดยการบังคับจะเริ่มจากอาคารขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมก่อน โดยปีที่ 1 บังคับกับอาคาร ขนาดตั้งแต่ 10,000 ตร.ม. ขึ้นไป ปีที่ 2 บังคับกับอาคาร ขนาดตั้งแต่ 5,000 ตร.ม.ขึ้นไป และปีที่ 3 บังคับกับอาคาร ขนาดตั้งแต่2,000 ตร.ม.