xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.จับมือ อภ.จ่อตั้ง รง.ยาโรคมะเร็ง เล็งดึง รพ.ศิริราช-บริษัทต่างชาติเจ้าของเทคโนฯ ร่วม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ปตท.เซ็นเอ็มโอยูองค์การเภสัชฯ ศึกษาความเป็นไปได้ตั้งโรงงานผลิตยารักษามะเร็ง เพื่อให้คนไทยเข้าถึงยาได้ง่ายขึ้นในราคาที่ถูกลง 50% คาดว่าผลการศึกษาจะมีความชัดเจนใน 6 เดือนข้างหน้า และจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ในปี 68 เผยเตรียมดึง รพ.ศิริราชและบริษัทต่างชาติที่มีเทคโนโลยีด้านยามะเร็งเข้าร่วมด้วย

วันนี้ (23 ม.ค.) นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมลงนามกับนายแพทย์ นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ในพิธีบันทึกข้อตกลงเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำโครงการสร้างโรงงานผลิตยารักษามะเร็งและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการผลิตสารออกฤทธิ์ทางยา (API) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการผลิตยา ยกระดับอุตสาหกรรมยาของไทยให้ทัดเทียมสากล

นายแพทย์ นพพรกล่าวว่า ในปัจจุบันโรคมะเร็งถือเป็นโรคเป็นสาเหตุการตายสูงสุดอันดับ 1 ของประเทศ พบว่าคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งรวม 6 หมื่นคน/ปี ขณะที่ทั่วโลกมีคนเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง 8 ล้านคน/ปี โดยใน 30 ปีข้างหน้าคาดว่ายาครึ่งหนึ่งจะเป็นยารักษาโรคมะเร็ง ขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็ง ทำให้ต้องนำเข้าจากต่างประเทศทั้ง 100% ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถเข้าถึงยาได้อย่างทั่วถึง เนื่องจากเป็นยาที่มีราคาแพง

ดังนั้น การร่วมมือกับ ปตท.ในครั้งนี้ ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานรัฐวิสาหกิจด้วยกัน โดยอาศัยจุดแข็งของ ปตท.ที่ดำเนินธุรกิจเคมี ที่อาจจะเป็นวัตถุดิบในการผลิตยารักษามะเร็ง รวมทั้งมีความเชี่ยวชาญเชิงวิศวกรรม การบริหารโครงการและการก่อสร้างโรงงาน ทำให้การก่อสร้างโรงงานจะช่วยร่นระยะเวลาในการดำเนินโครงการได้เร็วขึ้น

ทั้งนี้ ในการศึกษาความเป็นไปได้โครงการดังกล่าวนี้ ทางองค์การเภสัชกรรมได้เจรจาที่จะดึงโรงพยาบาลศิริราช และเจ้าของเทคโนโลยีด้านยารักษามะเร็งจากเอเชียเข้ามาร่วมด้วย โดยองค์การเภสัชกรรมจะเน้นการผลิตยารักษาโรคมะเร็งในทุกกลุ่มการผลิต ทั้งยาเคมีบำบัดชนิดเม็ดและฉีด (Chemotherapy) ซึ่งเป็นยาพื้นฐานในการรักษาโรคมะเร็ง และยารักษาแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (Targeted Therapy) ทั้งยาเคมีชนิดเม็ดและยาฉีด เบื้องต้นคาดว่าโรงงานผลิตยารักษามะเร็งจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2568 ใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท

การตั้งโรงงานผลิตยารักษามะเร็งในไทยจะทำให้ลดราคายาลงมาได้ 50% ซึ่งเป็นการลดภาระด้านยาในระบบสาธารณสุขของประเทศไทย และผู้ป่วยเข้าถึงยาได้ทั่วถึงมากขึ้น ทำให้ประเทศมีความมั่นคงด้านยาและพึ่งพาตนเอง

นายอรรถพลกล่าวต่อไปว่า การลงนามเอ็มโอยูในครั้งนี้ ทาง ปตท.และองค์การเภสัชฯ จะศึกษาความเป็นไปได้ร่วมกัน คาดว่าจะมีความชัดเจนใน 6 เดือนข้างหน้า หลังจากนั้นจึงค่อยตัดสินใจว่า ปตท.จะร่วมลงทุนหรือไม่ แต่ก็พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือองค์การเภสัชกรรมเพื่อต้องการให้เกิดความมั่นคงด้านยา ลดการสูญเสียเงินตราต่างประเทศ โดยมองพื้นที่ตั้งโรงงานยาในนิเวศอุตสาหกรรมวนารมย์ (WECOZI) จ.ระยอง ของกลุ่ม ปตท. หรืออาจจะเป็นพื้นที่ขององค์การเภสัชกรรมที่หนองใหญ่ จ.ชลบุรี ขึ้นอยู่กับว่าพื้นที่ใดเหมาะสมและมีความพร้อมด้านสาธารณูปโภค


กำลังโหลดความคิดเห็น