xs
xsm
sm
md
lg

คสช.ประเดิม ม.44 ปี 61 ลอยตัวราคาน้ำตาล ลุ้นลด 1-2 บาท/กก.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คสช.ประเดิมออกคำสั่ง ม.44 คำสั่งแรกปี 2561 ปลดล็อกการยกเว้นการบังคับใช้ (18) มาตรา 17 พ.ร.บ.อ้อยฯ เพื่อลอยตัวราคาน้ำตาลทรายอิงกลไกตลาดโลกมีผลทันที โดยอิงสูตรราคาน้ำตาลตลาดลอนดอน No.5 +ไทยพรีเมียมตัวเลขไม่เป็นทางการคาดลด 1-2 บาทต่อ กก.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 15 ม.ค.หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกคำสั่งที่ 1/2561 เรื่องการแก้ไขกฎหมายเพื่อรองรับการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ โดยยกเว้นการใช้บังคับ (18 ) ของมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายเฉพาะในส่วนของการกำหนดราคาน้ำตาลทรายเพื่อใช้บริโภคในประเทศ ซึ่งถือเป็นการปลดล็อกการควบคุมราคาน้ำตาลทรายไปสู่การลอยตัวราคาอิงตลาดโลกที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้วางไว้ตามสูตรการอิงราคาน้ำตาลตลาดลอนดอน No.5 + ไทยพรีเมียมทันที

ทั้งนี้ ราคาหน้าโรงงานปัจจุบันถูกกำหนดไว้ที่ระดับ 14-14.50 บาทต่อกิโลกรัม บวกด้วยราคาที่เก็บเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย 5 บาทต่อ กก. เป็น 19 บาทต่อ กก. และขายปลีกเฉลี่ยอยู่ที่ 23.50 บาทต่อ กก. ดังนั้นเงินส่วนของ 5 บาทต่อ กก.จะต้องถูกปลดออกทันที อย่างไรก็ตาม เมื่อคำนวณตามสูตรดังกล่าวมีแนวโน้มว่าราคาน้ำตาลทรายจะลดลงได้ 1-2 บาทต่อ กก.

“ตัวเลขราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานที่ประเมินอย่างไม่เป็นทางการจะอยู่ระดับ 17 บาทต่อ กก. ขาวบริสุทธิ์อยู่ที่ 18 บาทต่อ กก. ซึ่งก็จะทำให้ราคาขายปลีกลดลงตามไปด้วย 1-2 บาทต่อ กก.เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม คงจะต้องรอให้กระทรวงพาณิชย์ประกาศราคาแนะนำการขายก่อน แม้ว่าคำสั่งจะมีผลแล้วแต่การเห็นราคาขายปลีดลดลงจริงน่าจะต้องรอ 3-5 วันเพราะน้ำตาลได้ขึ้นงวดทุกสัปดาห์ยังต้องเคลียร์สต๊อกเก่าก่อน แต่หากใครตกลงซื้อขายใหม่เลยวันนี้ก็ลดลงได้ทันที” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวจากโรงงานน้ำตาลทรายกล่าวว่า ประชาชนไม่ต้องกังวลว่าจะมีน้ำตาลไม่เพียงพอบริโภคในประเทศแม้ว่าการลอยตัวจะส่งผลให้ไม่ต้องกำหนดโควตา ก. ข. ค. แต่จะมีการกันน้ำตาลไว้ดูแลด้วยการตั้งสำรองน้ำตาล (บัฟเฟอร์สต๊อก) ประกอบกับน้ำตาลปีนี้จะสูงมาก ซึ่งคาดว่าจะมีการกำหนดในช่วงใกล้ปิดหีบอ้อย ส่วนราคานั้นจะมีการปรับเปลี่ยนคล้ายราคาน้ำมันที่เมื่อราคาตลาดโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากก็จะให้เห็นราคาเปลี่ยน แต่ด้วยน้ำตาลทรายจะเคลื่อนไหวไม่สวิงเหมือนน้ำมันการเปลี่ยนแปลงอาจเห็นเป็นรายเดือนได้มากกว่า


กำลังโหลดความคิดเห็น