“สมอ.” เปิดแผนดำเนินงานปี 2561 คุมเข้มสินค้าไร้มาตรฐานมากขึ้นหลังปีที่แล้วจับกุมได้คิดเป็นมูลค่า 2,000 ล้านบาท พร้อมกำหนดมาตรฐานบังคับ 23 รายการนำร่องเต้ารับ-เต้าเสียบชุดสายพ่วง บังคับใช้ 24 ก.พ.นี้ พร้อมวาง 4 เรื่องเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากโดยเฉพาะ จ่อออกใบรับรอง มอก.S ฉบับแรกได้เดือน มี.ค.นี้
นายณัฐพล รังสิตพล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า ปี 2561 สมอ.ยังคงมุ่งดำเนินงาน 2 ด้านสำคัญ คือ การดูแลคุ้มครองผู้บริโภค และการจัดทำมาตรฐานต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับฐานราก โดยจะเข้มข้นในการตรวจสอบคุมเข้มร้านค้าอย่างใกล้ชิดและเฝ้าระวังการจำหน่ายสินค้าที่ไม่เป็นมาตรฐานให้มากขึ้น โดยปีที่แล้วทำการตรวจจับสินค้าที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายคิดเป็นมูลค่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงอยู่แต่หากเทียบกับปี 2569 ที่มีมูลค่าถึง 3,800 ล้านบาทก็ลดลงได้เกือบ 50% ซึ่งเป็นไปตามแนวทางรัฐบาลที่จะร่วมกับทุกหน่วยงานเพื่อลดปัญหาดังกล่าวลง
สำหรับการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ได้ดำเนินการจัดทำมาตรฐานรวมแล้วทั้งสิ้น 172 มาตรฐาน และในจำนวนดังกล่าวจะกำหนดให้เป็นมาตรฐานบังคับในปี 2561 จำนวน 23 มาตรฐาน เช่น มาตรฐานเต้ารับ เต้าเสียบสำหรับใช้ในที่อยู่อาศัยและงานทั่วไป ชุดสายพ่วง มอก.2432-2555 ที่จะเริ่มบังคับก่อนในวันที่ 24 ก.พ.นี้ มาตรฐานที่เตรียมจัดทำยกร่างพระราชกฤษฎีกา 4 มาตรฐาน ได้แก่ กระจกโฟลตใส กระจกโฟลตสี ตัดแสง กระจกเทปเปอร์ กระจกนิรภัย ยางล้อแบบสูบลม 4 มาตรฐาน หลอดไฟฟ้าไส้ทังสเตน เหล็กกล้าทรงแบน แบตเตอรี่สำรองไฟฟ้าสำหรับการใช้งานแบบพกพา (มอก.2879-25xx) เป็นต้น
“สมอ.ได้ปรับการทำงานสู่ยุค 4.0 ด้วยการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในกระบวนการออกใบอนุญาต (E-license) ซึ่งได้ปรับลดขั้นตอนกระบวนการออกใบอนุญาตเหลือเพียง 15 วันทำการ มีความโปร่งใสตรวจสอบได้ ซึ่งจะเริ่มให้บริการวันที่ 23 ม.ค. 61 ขณะที่การรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) จะลดระยะเวลาการรับรองมาตรฐานจากเดิม 73 วันทำการเหลือเพียง 49 วัน ซึ่งกระบวนการนี้ได้นำร่องแล้วในเขต กทม.ก่อน จากนั้นจะขยายการบริการให้ครบ 76 จังหวัดภายใน ก.ย. 61 และมีเป้าหมายจะลดให้เหลือ 33 วันทำการทั้งหมด” นายณัฐพลกล่าว
นายณัฐพลกล่าวว่า ภารกิจที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากปีนี้ สมอ.จะมุ่งเน้นดำเนินการ 4 เรื่อง ได้แก่ 1. การจัดทำมาตรฐานอุตสาหกรรมเอส (มอก. S) เพื่อเป็นการยกระดับขีดความสามารถ SMEs ให้เหมาะสมกับธุรกิจ SMEs / Startup ที่ตรงความต้องการของผู้ใช้ และตลาดทั้งในและต่างประเทศ หลังจากนั้นจะเป็นกระบวนการตรวจสอบและรับรอง ซึ่ง มอก. S จะมีขั้นตอนการดำเนินงานที่มีความคล่องตัวและเหมาะสมกับ SMEs ซึ่งได้มีการจัดทำมาตรฐานแล้ว 20 มาตรฐานแรก เช่น แชมพู สบู่ก้อน สบู่เหลว ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ผ้าคลุมเตียงสำหรับโรงแรม ผ้าห่ม ผ้าขนหนู ฯลฯ คาดว่าจะออกใบรับรองฉบับแรกได้ในเดือนมีนาคม 61
2. กำหนดมาตรฐานตามกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) โดยจะนำร่องพัฒนา 40 รายการ เช่น อุตสาหกรรมระบบราง 6 รายการ อุปกรณ์การแพทย์ 10 รายการ ยานยนต์สมัยใหม่ ฯลฯ
3. การจัดทำมาตรฐานห่วงโซ่การควบคุมผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ (CoC) มอก.2861-2560 ที่อยู่ระหว่างการนำเสนอ รมว.อุตสาหกรรมลงนาม ซึ่งจะมีการผลักดันให้มีการรับรองในสาขาการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนที่จะเป็นประโยชน์ทั้งสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม และ 4. การจัดทำมอก. ๙๙๙๙ เป็นมาตรฐาน ISO ซึ่งล่าสุดผู้แทนสมอก.ได้นำเสนอในการประชุมสภามาตรฐานแห่งภาคพื้นแปซิฟิก(PASC ) ประเทศสิงคโปร์ และประเทศสมาชิกให้การสนับสนุนการผลักดันมาตรฐานดังกล่าวเป็นมาตรฐานสากลต่อไป