xs
xsm
sm
md
lg

หมอเด็กไม่ฟันธง “น้ำลายเอเลียน” ทำ ด.ญ.ติดเชื้อ แฉสอนใช้สารอันตรายผสมทำสไลม์ผ่านเน็ตเพียบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


หมอเด็กไม่ฟันธง “น้ำลายเอเลียน” หรือ “สไลม์” ทำ ด.ญ.ติดเชื้อในกระแสเลือด แต่ระบุชัดมีการใช้สารเคมีอันตรายมาเป็นส่วนผสมในการทำ เผยแพร่ทางเน็ตชัดเจน แถมซื้อง่ายขายคล่องทั้งทางเน็ต และหน้าโรงเรียน จี้ ร.ร. เข้มงวดตรวขายของเล่นหน้า ร.ร. แนะพ่อแม่มีสติเลือกของเล่นให้ลูก

จากกรณีการเผยแพร่ผ่านโซเชียลมีเดีย ว่า มีเด็กหญิงคนหนึ่งป่วยติดเชื้อในกระแสเลือด เนื่องจากสูดดมกาวในของเล่นเด็ก “สไลม์” หรือ “น้ำลายเอเลียน” จนมีการแจ้งเตือนว่าเป็นของเล่นอันตรายนั้น

วันนี้ (14 ก.ย.) รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า เบื้องต้นยังไม่ทราบว่าการติดเชื้อในกระแสเลือดของเด็กหญิงเกิดจากของเล่น “สไลม์” จริงหรือไม่ เพราะการติดเชื้อในกระแสเลือดได้มีหลายปัจจัย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้พบปัญหาเกี่ยวกับของเล่น “สไลม์” อยู่หลายเรื่อง คือ 1. การสอนเล่นและการทำส่วนผสมเองผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยบางคลิปแนะนำให้ผสมครีมโกนหนวด ผงซักฟอกกับแป้งโด ซึ่งการนำสารเคมีต่าง ๆ มาผสมเองถือว่าเป็นอันตรายมาก 2. การขายส่วนผสมทำสไลม์ผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งไม่รู้ว่าส่วนผสมดังกล่าวเป็นอะไรบ้าง แต่มีบางเจ้าที่ตรวจสอบพบว่ามีส่วนผสมของสารบอแรกซ์และกาว เพื่อทำให้ของเล่นมีความเหนียวนุ่ม โดยตัวกาวจะมีสารฟอมาลดีไฮด์เป็นอันตรายต่อผิวหนัง และระบบทางเดินหายใจ สารบอแร็กซ์นั้นถือเป็นสารอันตรายที่มีผลต่อการทำงานของไต ทำให้ไตอักเสบ และทั้งหมดอาจจะมีผลกระทบต่อสมองเด็กในระยะยาวและอาจทำให้ไตอักเสบได้

รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวว่า 3. การวางขายสไลม์หน้าโรงเรียน ซึ่งพบว่าสามารถหาซื้อได้ง่าย มีทั้งที่ได้รับเครื่องหมาย มอก. หรือมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และไม่มี ซึ่งถ้าไม่มีก็สามารถจับกุมได้ทันที ส่วนที่มี มอก. จะถือว่าสารต่าง ๆ ที่นำมาผสมอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด แต่ก็ต้องตรวจสอบเพิ่มเติมว่าเป็นการปลอมแปลงตราหรือไม่ ดังนั้น หากไม่แน่ใจให้แจ้งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบได้ และโรงเรียนควรมีการเข้มงวดเรื่องการขายของเล่นเด็กให้มาก ๆ ซึ่งขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กำลังเข้าไปตรวจสอบแล้ว

“เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาได้ไปซื้อสไลม์หน้าโรงเรียนละแวก รพ.รามาฯ ก็หาซื้อได้ง่ายมาก เพื่อเอามาตรวจสอบด้วยเครื่องมือตรวจหาโลหะหนักอย่างง่าย ก็พบว่า สไลม์ที่มี มอก. มีสารโลหะหนัก อาทิ ตะกั่ว สารหนู และ ปรอท แต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน ส่วนที่ไม่มี มอก. ก็พบสารโลหะหนักที่ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานเช่นกัน อย่างไรก็ตาม แม้จะอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แต่หากเล่นและเผลอได้รับเข้าสู่ร่างกายจะเป็นการสะสมทำให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพในระยะยาวได้” รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวและว่า ไม่ควรให้เด็กผสมของเล่นเอง เป็นเรื่องอันตรายมาก พ่อแม่ควรมีสติในการเลือกของเล่นให้ลูก อย่างไรก็ตาม สไลม์ถือเป็นของเล่นที่ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการของเด็ก ๆ ได้ ให้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เหมาะสำหรับเด็กอายุ 3 ขวบขึ้นไป แต่การเล่นพ่อแม่ต้องไม่ปล่อยให้เด็กผสมส่วนประกอบเอง โดยอาศัยความรู้จากอินเทอร์เน็ต ทางที่ดีคือควรใช้อุปกรณ์ที่มีคุณภาพได้รับการรับรอง








ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น