กทท.ลุยพัฒนาท่าเรือกรุงเทพระยะ 5 ปี ยกเครื่องบริการ ผุดโปรเจกต์เน้นใช้พื้นที่แนวสูง ปี 61 ลงทุนอีกกว่า 1.3 พันล้านสร้างคลังส่งออก เพิ่มประสิทธิภาพการบริการ สร้างมูลค่าเพิ่ม ลดพื้นที่ท่าเรือเหลือ 534 ไร่ เตรียมชงบอร์ดคลอดแผนพัฒนาที่ดิน 2 พันไร่ เร่งตั้งบริษัทลูกบริหารสินทรัพย์มูลค่ากว่าแสนล้าน
นายโกมล ศรีบางพลีน้อย ผู้อำนวยการท่าเรือกรุงเทพ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า ตามแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพนั้น ในส่วนของท่าเรือ ซึ่งมีพื้นที่ 943 ไร่ จะปรับลดพื้นที่การให้บริการเรือและสินค้าเหลือ 534 ไร่ ให้มีพื้นที่เหลืออีกกว่า 400 ไร่ที่สามารถนำไปพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้ โดยในระยะ 5 ปีจะมีการพัฒนาปรับปรุงท่าเทียบเรือการให้บริการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รองรับปริมาณตู้สินค้าได้รวมไม่เกิน 1.5 ล้านทีอียูต่อปี แต่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและรายได้มากขึ้น
ภายในเดือน ม.ค.นี้เตรียมประกาศร่างทีโออาร์ประมูล คัดเลือกผู้รับจ้างก่อสร้างและจัดซื้ออุปกรณ์ โครงการพัฒนาสถานีหรือคลังบรรจุสินค้าเพื่อการส่งออก (CFS Export) ท่าเรือกรุงเทพ งบประมาณ 1,357.32 ล้านบาท โดยจะเป็นการพัฒนาพื้นที่ 9,980 ตร.ม. รองรับได้ 116,610 ทีอียู/ปี พร้อมอาคารสำนักงาน ระยะเวลาก่อสร้าง 1.5- 2 ปี โดยจะบริหารแบบ Cross Docking สินค้ามาถึงนำลงได้เลยไม่ต้องรอตู้ ซึ่งจะทำให้ต่อวันรถวิ่งได้หลายรอบมากขึ้น จากเดิมที่จะใช้พื้นที่โล่งประมาณ 120 ไร่ดำเนินการและเสียเวลารอตู้บรรจุ ซึ่งพบว่าโครงการจะมีผลตอบแทนการลงทุน (IRR) 11-12%
นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างศึกษาการพัฒนาโครงการรวมและกระจายสินค้า หรือ Bangkok Port Distripark ซึ่งจะพัฒนาพื้นที่หลังท่าเป็นคลังสินค้าทรงสูง เป็นศูนย์รวมกิจกรรมตู้สินค้าขาเข้า เขตปลอดภาษี (ฟรีโซน) สินค้าผ่านแดน คลังสินค้ารถยนต์ จะรวมเป็นจุดเดียวจากเดิมคลังต่างๆ เหล่านี้จะกระจายทั่วท่าเรือ เป็นการรวมกิจกรรม เป็นจุดบริการเบ็ดเสร็จเพื่อลดพื้นที่ใช้สอยตามแผน ซึ่งจะศึกษาในปี 2561-2562 และเริ่มดำเนินการในปี 2563 และยังมีโครงการท่าเทียบเรือตู้สินค้าเขื่อนตะวันตก (BKP West Container Terminal) ความยาว 1,600 เมตร บริหารจัดการหน้าท่าให้เหมาะสมกับเรือและสินค้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งาน และเรือไม่ต้องเสียเวลารอเทียบท่า
สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่บริเวณท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) เนื้อที่ 2,353 ไร่ คาดว่าจะเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) กทท.พิจารณาในเดือน ม.ค.นี้ จากนั้นจะเสนอกระทรวงคมนาคมต่อไป ขณะนี้เตรียมจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ ซึ่งเป็นบริษัทลูก เพื่อพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ให้สอดคล้องกันด้วย
รายงานข่าวแจ้งว่า การใช้ประโยชน์ที่ดินของท่าเรือ 2,353 ไร่ มูลค่าลงทุนไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท ประกอบด้วย พื้นที่ท่าเรือ ในเขตรั้วศุลกากร 943 ไร่, พื้นที่นอกเขตรั้วศุลกากรที่การท่าเรือฯ ใช้ประโยชน์ 118 ไร่, พื้นที่หน่วยงานรัฐขอใช้ 218 ไร่, พื้นที่หน่วยงานรัฐเช่า 160 ไร่, พื้นที่เอกชนเช่าเชิงพาณิชย์ 313 ไร่, พื้นที่เอกชนเช่าเพื่อสังคม 203 ไร่, พื้นที่ชุมชนแออัด 198 ไร่, พื้นที่ทางสัญจร 200 ไร่
แนวคิด แบ่งเป็น 3 โซน ได้แก่ โซน A พื้นที่พัฒนาด้านการค้า (Commercial Zone) เน้นเชิงพาณิชย์ และพัฒนาเพื่อการอยู่อาศัยในชุมชน (Smart Community) ประกอบด้วย พื้นที่ A1 ขนาด 6,800 ตร.ว. (17 ไร่) มูลค่าที่ดิน 400,000 บาท/ตร.ว. มูลค่าการลงทุน 6,694 ล้านบาท เป็นการพัฒนาพื้นที่เป็นอาคารศูนย์ธุรกิจ พาณิชยนาวี ขนาด 44 ชั้น เพื่อสนับสนุนธุรกิจของ กทท. และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเพื่อรองรับการเป็น Modern Port City
พื้นที่ A2 ขนาด 21,600 ตร.ว. (54 ไร่) มูลค่าที่ดิน 120,000 บาท/ตร.ว. มูลค่าการลงทุน 3,536 ล้านบาท เป็นการพัฒนาศูนย์ลอจิสติกส์ รองรับกิจกรรมต่อเนื่องจากกิจกรรมหลัก ในการรวบรวมและกระจายสินค้าที่มีความเชื่อมโยงกับการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำและท้ายน้ำ, พื้นที่ A3 ขนาด 6,000 ตร.ว. (15 ไร่) มูลค่าที่ดิน 150,000 บาท/ตร.ว. มูลค่าการลงทุน 3,478 ล้านบาท พัฒนาเป็นอาคารสำนักงาน
พื้นที่ A4 ขนาด 50,728 ตร.ว. (127 ไร่) มูลค่าที่ดิน 200,000 บาท/ตร.ว. มูลค่าการลงทุน 10,145 ล้านบาท พัฒนาเป็นศูนย์การค้าธุรกิจครบวงจร พื้นที่ A5 พื้นที่องค์การฟอกหนัง ประมาณ 21 ไร่ ซึ่ง กทท.จะเป็นพื้นที่แรกนำมาพัฒนาเป็นอาคาร พื้นที่ประมาณ 245,644 ตร.ม.
โซน B พื้นที่ท่าเรือ ปัจจุบันมีจำนวน 943 ไร่ จะปรับเหลือ 534 ไร่ โดยแบ่งการพัฒนาเป็นสถานีบรรจุสินค้า เป็นต้น โซน C เน้นการพัฒนาเมืองธุรกิจขนาดใหญ่เป็นแลนด์มาร์กของประเทศและจุดท่องเที่ยว เชื่อมโยงท่องเที่ยวทางน้ำ ซึ่งจะปรับปรุงคลังสินค้าเก่าเป็นท่าเรือโดยสารระหว่างประเทศ หรือท่าเทียบเรือโดยสารขนาดใหญ่ (Cruise) เป็นต้น