xs
xsm
sm
md
lg

“ไฮสปีดไทย-จีน” รถไฟทางคู่-เมล์ NGV โปรเจกต์ท้ายปี 60 กู้หน้า “คมนาคม”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คมนาคมดัน 3 โครงการปิดดีล ตัดริบบิ้นส่งท้ายปลายปีไปได้แบบเฉียดฉิว แม้บางโครงการอาจจะยังเป็นที่คาใจว่าในที่สุดแล้วจะมีปัญหาฉีกสัญญาซ้ำรอยอีกหรือไม่ เรียกว่าได้เริ่มต้นแล้ว แต่จะจบแบบไหน เข้าเส้นชัยหรือไม่! ต้องดูกันไปยาวๆ ส่วนการปลดธงแดง ICAO แทบจะเป็นผลงานเดียวที่เป็นรูปธรรม

***สตาร์ทไฮสปีด “ไทย-จีน” ปี 61 เร่งประมูล 13 สัญญา มูลค่ากว่า 1.1 แสนล้าน

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ปลุกปั้น ตั้งวงเจรจากับผู้แทนประเทศจีน ตั้งเป้าเริ่มต้นโครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทางรวม 252.3 กิโลเมตร วงเงิน 179,412.21 ล้านบาท ให้ได้ภายในปี2560 แม้จะเลื่อนกำหนดมาหลายรอบ จนการประชุมในครั้งที่ 22 ได้กำหนดวันที่ 21 ธันวาคม 2560 เป็นวันดีสำหรับเริ่มต้นประวัติศาสตร์หน้าใหม่รถไฟไทย 

หากย้อนกลับไป เมื่อ 21 ธ.ค. ปี 2441 คือวันที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรการก่อสร้างรถไฟสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา จึงเป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ณ สถานที่อันเป็นมงคล ด้วยการเริ่มการก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายแรกของประเทศอย่างเป็นทางการ

ตามข้อตกลง ฝ่ายไทยให้จีนออกแบบ ใช้เทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงของจีน ซึ่งระยะแรก กรุงเทพฯ-นครราชสีมา จะทยอยส่งแบบครบภายในเดือน มิ.ย. 2561 งานก่อสร้าง ตอนที่ 1 ช่วงสถานีกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. ร.ฟ.ท.ให้กรมทางหลวง (ทล.) ดำเนินการเพื่อความรวดเร็ว และเป็นช่วงสั้นๆ ส่วนตอนที่ 2 ปากช่อง-ขนานจิตร ระยะทาง 11 กม. ตอนที่ 3 แก่งคอย-นครราชสีมา ระยะทาง 119.5 กม. ตอนที่ 4 แก่งคอย-กรุงเทพฯ 119 กม.เตรียมประมูลหาผู้รับเหมาก่อสร้างตั้งแต่ไตรมาส 2/61 มูลค่างานโยธารวมกันกว่า 1.1 แสนล้านบาท 

นอกจากนี้ จะมีการเจรจาในส่วนของตัวระบบรถ ซึ่งมีมูลค่าเกือบ 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งคงไม่จบง่ายๆ เพราะจีนเสนอดอกเบี้ยเงินกู้กว่า 2.5% ซึ่งสูงกว่าเทียบกับเงินกู้อื่นๆ รวมถึง การเดินหน้าออกแบบในระยะที่ 2 (โคราช-หนองคาย) ระยะทาง 394 กิโลเมตรอีกด้วย

โครงการระดับชาติ รถไฟความเร็วสูงสายแรกเริ่มแล้ว ตามแผนการก่อสร้างจะเสร็จ และเปิดให้บริการปี 2566...ซึ่งกว่าจะถึงวันนั้นคงต้องขยับแผนกันอีกหลายรอบแน่นอน เอาเป็นว่าขอให้เปิดได้จริงๆ ก็พอ

*** ม.44 เด้งผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท. ปลดล็อกรถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง-ปี 61 อัดประมูลเฟส 2 อีกเกือบ 4 แสนล้าน

ขณะที่รถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง วงเงินจาก 1.01 แสนล้านบาท โครงการที่ถูกจับจ้องว่ามีการล็อกสเปก ผูกสัญญาให้ผู้รับเหมาประจำหน้าเดิมไว้แล้ว ส่วนรับเหมารายกลาง ขาจรหมดสิทธิ์เบียดเข้ามาแจม จนมีคำสั่ง ม.44 เด้งผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท. “วุฒิชาติ กัลยาณมิตร” ตกเก้าอี้ไปตบยุงสำนักนายกฯ และแต่งตั้งซูเปอร์บอร์ดจัดซื้อฯ เข้ามา รถไฟล้มกระดาน เริ่มต้นกันใหม่ แบ่งซอยงาน ลดทอนมูลค่าลง-ปรับสเปกให้กว้าง ใช้เวลาเกือบทั้งปีกว่าจะลงนามสัญญากับผู้รับเหมาได้

แม้ทุกรัฐบาลให้ความสำคัญต่อการพัฒนาระบบรางอย่างยิ่ง แต่รถไฟเลยยังไม่พัฒนาไปไหนสักที วันนี้รถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วนเกิดแล้ว ปี 2561 จะดันเฟส 2 อีก 7 เส้นทาง และสายใหม่อีก 2 เส้นทาง วงเงินรวมเกือบ 4 แสนล้านบาท เปิดประมูลกันรัวๆ ทั้งปี อีกไม่เกิน 5 ปีรถไฟทางคู่ทั่วประเทศพลิกโฉมรถไฟครั้งใหญ่...ส่วนที่จะต้องแก้ปัญหาต่อไป คือ การจัดซื้อ/เช่าหัวรถจักร 100 คันอีกกว่าหมื่นล้านบาท ซึ่งก็ต้องล้มเพราะเรื่องล็อกสเปกแบบเดิมๆ มาหลายรอบ ถึงคิวที่จะต้องสะสางกันซะที

***ขสมก.อุ้ม “ช ทวี” รวบรัดเซ็นซื้อรถเมล์ NGV โปรเจกต์เจ้าปัญหา 

โครงการจัดซื้อรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) พร้อมซ่อมแซมและบำรุงรักษารถโดยสาร จำนวน 489 คัน ราคากลาง 4,020 ล้านบาท ขสมก.เปิดประมูลมา 8 ครั้ง ครั้งที่บริษัท เบสท์รินฯ ชนะ ว่ากันว่าน่าจะจบ เพราะถึงขั้นเซ็นสัญญา นำรถเข้ามาจอดท่าเรือรอส่งมอบกันแล้ว แต่เจอกรมศุลกากรตรวจพบสำแดงภาษีเท็จ ด้าน ขสมก.ถอยดีกว่า ขอยกเลิกสัญญากันไป แต่รถ NGV เบสท์รินฯ กลายเป็นข้อพิพาทบานปลายไปถึง รฟม.ที่จู่ๆ ก็ต้องมาซวย! เพราะทั้ง ขสมก. และเบสท์รินฯ ต่างปฏิเสธที่จะมาย้ายรถ 83 คันออกจากเดปโป้ พระราม 9 รฟม.ต้องพึ่งศาลช่วยหาเจ้าของรถให้ที ...

ส่วน ขสมก.เปิดประมูลอีกครั้ง เบสท์รินฯ ถูกแบล็กลิสต์ไปแล้ว บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) หรือ CHO ไร้คู่แข่ง หนทางแสนสะดวก โดยจับมือพันธมิตรอย่างบริษัท สแกน อินเตอร์ จํากัด (มหาชน) หรือ SCN เป็นกลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO (Consortium SCN-CHO) ซิวสัญญารถเมล์ NGV จำนวน 489 คัน วงเงิน 4,260 ล้านบาทไปแบบสบายๆ ว่ากันว่าราคารถตกคันละเกือบ 4 ล้านบาท ส่วนราคากลางที่ 3.54 ล้านบาทแค่ตัวรถก็ได้กำไรแล้ว

แต่ทว่า สัญญารถเมล์ NGV แล้วคิดแค่จะซื้อรถมาขายต่อคงไม่ได้ เพราะยังมีรับประกันตัวรถอีก 5 ปี และรับซ่อมบำรุงอีก 10 ปี ถ้าตอนประมูลคือมหากาพย์ หลังจากได้สัญญาไปแล้วต้องเรียกว่าหนังชีวิต แต่จะรันทดแค่ไหน ต้องรอดู... สงสารก็แต่คนไทย ท่านผู้นำพยายามดิ้นรนหารถใหม่เอี่ยมมาให้นั่ง แต่อาจจะแค่ 1-2 ปี หลังจากนั้นจะเข้ารูปแบบเดิมๆ คือ วิ่งไป พังไป วิ่งไป ซ่อมไป ...ไทยแลนด์...

*** ปีที่รอคอย ... ICAO ปลดธงแดง บทเรียนสำคัญ...ธุรกิจการบินแบบไทยๆ กับมาตรฐานโลก 

การบินของประเทศไทยอยู่ในสภาพถูกแช่แข็ง หลังองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) พบว่าประเทศไทยมีความบกพร่องเกี่ยวกับกระบวนการออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ โดยมีข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัยด้านการบินพลเรือน (SSC) จำนวน 33 ข้อ และต่อมาเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2558 ได้ประกาศติดธงแดงประเทศไทยบนเว็บไซต์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงว่าไทยยังไม่มีการกำกับดูแลมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินพลเรือนอย่างเพียงพอภายใต้มาตรฐานของ ICAO  

การทำธุรกิจของสายการบินสัญชาติไทยต้องสะดุด ถือว่าเสียโอกาสพอสมควรในยุคที่อุตสาหกรรมการบินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเติบโตแต่พุ่งกระฉูดความตั้งใจและร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ใช้เวลา 2 ปีเศษแก้ปัญหาต่างๆ ตามข้อท้วงติงและคำแนะนำของ ICAO อย่างใกล้ชิด แล้วในวันที่ 6 ตุลาคม 2560 ICAO ได้ประกาศถอดประเทศไทยออกจากรายชื่อประเทศที่มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยด้านการบินพลเรือน (ปลดธงแดง)  

“ก่อนหน้านั้น สายการบินที่ได้รับใบอนุญาตประกอบการบินถึง 41 สายการบิน โดยเป็นสายการบินระหว่างประเทศ 28 สาย เพราะได้กันไม่ยาก ขอไม่นาน มาตรฐานการบิน ความปลอดภัยไม่สำคัญเท่ากับคนมีอำนาจในการอนุญาต .. คมนาคมต้องผ่าตัดใหญ่ หน่วยงานด้านการบินแยกส่วนด้านกำกับ ด้านปฏิบัติ วางระเบียบในการได้รับอนุญาตการบิน สุดท้ายเหลือ 21 สายการบินที่เป็นตัวจริง เข้ามาตรฐาน ICAO เดินหน้าทำธุรกิจต่อไปได้ ... ธงแดงหนนี้จะเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับอุตฯ การบินของไทยรักษามาตรฐานไว้นานๆ รอบหน้า ICAO ตรวจซ้ำ หวังว่าไทยจะผ่านฉลุย


กำลังโหลดความคิดเห็น