xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” แนะผู้ส่งออกเตรียมพร้อมใช้ e-Form D ส่งออกอาเซียน 4 ประเทศ เริ่ม 1 ม.ค.61

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมการค้าต่างประเทศ แนะผู้ส่งออกเตรียมพร้อมใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้ารูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Form D ในการส่งออกไปอาเซียน 4 ประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 61 เผยจะทำให้การส่งออกมีความสะดวก รวดเร็ว ลดค่าใช้จ่าย และยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในด้านการแข่งขันให้กับสินค้าไทย

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2561 เป็นต้นไป การส่งออกไปยัง 4 ประเทศอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และ เวียดนาม จะต้องใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้ารูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Form D เพื่อขอรับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร เนื่องจากที่ประชุมคณะอนุกรรมการความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียนด้านกฎถิ่นกำเนิดสินค้า (SC-AROO) ครั้งที่ 25 เมื่อปลายเดือน พ.ย. 2560 ที่ผ่านมา มีมติให้นำระบบ e-Form D ไปใช้ในทางปฏิบัติ เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุขัดข้องทางระบบ จึงจะสามารถใช้ Form D แบบกระดาษแสดงต่อศุลกากรประเทศผู้นำเข้าเพื่อขอรับสิทธิพิเศษแทนได้

ทั้งนี้ กรมฯ มีความพร้อมในการออก e-Form D โดยผู้ส่งออกที่เคยส่งออกไปยังทั้ง 4 ประเทศในอาเซียน จะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ เพราะในการขอรับ Form D ก็เพียงแค่ยื่นคำขอผ่านระบบของกรมฯ เช่นเดียวกับการดำเนินการในปัจจุบัน จากนั้นกรมฯ จะส่งข้อมูลหนังสือรับรองฯ ไปยังศุลกากรประเทศปลายทางโดยตรงแทนการสั่งพิมพ์ Form D ทำให้ผู้ส่งออกได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น ช่วยประหยัดเวลา ช่วยลดต้นทุนในการทำธุรกิจ และยังแก้ปัญหาการปลอมแปลงเอกสารทางการค้า

“มั่นใจว่า การใช้ e-Form D จะเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการของไทย สามารถใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร ภายใต้ข้อตกลงอาเซียนได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น และทำให้สินค้าส่งออกไทยมีศักยภาพและความสามารถด้านการแข่งขันในตลาดอาเซียนสูงขึ้นด้วย” นายอดุลย์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากความไม่เสถียรของระบบในช่วงแรก การขอรับ e-Form D ควรดำเนินการพร้อมกับการใช้ Form D แบบกระดาษไปก่อน แต่การแสดงเอกสารเพื่อขอรับสิทธิพิเศษที่ประเทศปลายทางศุลกากรจะพิจารณาจาก e-Form D เป็นลำดับแรกตามมติที่ประชุมอาเซียน

ปัจจุบันมีหน่วยงานที่สามารถให้บริการออก e-Form D ครอบคลุมในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ประกอบด้วย กรมการค้าต่างประเทศใน 4 สาขา (ส่วนกลาง / ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ / กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ รัชดาภิเษก / ท่าเรือกรุงเทพฯ - คลองเตย) และสำนักงานพาณิชย์จังหวัด (สพจ.) 8 แห่ง ประกอบด้วย เชียงใหม่ สงขลา ชลบุรี สระแก้ว หนองคาย เชียงราย ตาก และ มุกดาหาร โดยในอนาคตอันใกล้คาดว่า จะมี สพจ. เพิ่มอีก 6 แห่ง คือ นครพนม ภูเก็ต สตูล ยะลา นราธิวาส และ ลำพูน ที่พร้อมรองรับให้บริการเพิ่มเติม
กำลังโหลดความคิดเห็น