xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” เตรียมเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หารือเตรียมท่าทีก่อนกลับไปเจรจา FTA ไทย-อียู

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“พาณิชย์” เตรียมเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือรับฟังข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ เพื่อกำหนดท่าทีของไทย รองรับการกลับไปเจรจา FTA ไทย - อียู มั่นใจการเจรจาจะมีความต่อเนื่อง แม้จะหยุดชะงักมากว่า 3 ปี เหตุที่ผ่านมา ได้ติดตามความเคลื่อนไหวของอียูในทุกประเด็น

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย - สหภาพยุโรป (อียู) ตามนโยบายที่ได้รับจาก น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ว่า กรมฯ จะเชิญหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาหารือ เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ และพิจารณาท่าทีของฝ่ายไทยอย่างรอบคอบและรอบด้าน ทั้งในประเด็นที่เป็นผลประโยชน์สำคัญของไทย เช่น การเปิดตลาดสินค้าเกษตร อุตสาหกรรม และบริการในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ และประเด็นที่มีความอ่อนไหว เช่น ทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับสิทธิบัตรยาและการคุ้มครองพันธุ์พืช เป็นต้น

สำหรับการเจรจา FTA ไทย - อียู ทั้ง 4 รอบที่ผ่านมา ในช่วงปี 2556 - 2557 ทั้งสองฝ่ายได้หารือแลกเปลี่ยนความเห็นต่อประเด็นที่แต่ละฝ่ายสนใจทั้งเรื่องการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน และเรื่องที่มีความเชื่อมโยงกับการค้า เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา นโยบายการแข่งขัน การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ การอำนวยความสะดวกทางการค้า มาตรการเยียวยาทางการค้า และการค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นต้น

“หากทั้งสองฝ่ายตัดสินใจที่จะกลับมาเจรจา ก็จะต้องพิจารณาว่าในเรื่องต่างๆ เหล่านี้ ว่า ไทยมีความพร้อมแค่ไหน อย่างไร ตลอดจนความสมดุลในภาพรวม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศ แต่ก็ต้องรอดูท่าทีของคณะกรรมาธิการยุโรปว่าจะตอบสนองต่อข้อมติของคณะมนตรีการต่างประเทศของอียูอย่างไร ซึ่งกรมฯ กำลังติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด”นางอรมนกล่าว

อย่างไรก็ตาม กรมฯ มั่นใจว่า การเจรจา FTA กับอียูที่จะเกิดขึ้น จะมีความต่อเนื่อง เพราะในช่วงที่การเจรจา FTA ไทย - อียู หยุดชะงัก ได้ติดตามพัฒนาการสำคัญของอียูมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นนโยบายด้านการค้าและการลงทุนของอียู การจัดทำ FTA หรือข้อตกลงทางการค้าของอียูกับประเทศต่างๆ รวมถึงกรณีที่อังกฤษขอแยกตัวออกจากอียู (Brexit) และในส่วนของไทยก็มีหลายเรื่องที่ในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา ที่มีพัฒนาการที่ดี โดยมีการปรับแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบให้มีความทันสมัย เช่น การอำนวยความสะดวกทางการค้า การปรับแก้ไข พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า และ พ.ร.บ. ศุลกากร เป็นต้น

ทั้งนี้ สหภาพยุโรป เป็นหนึ่งในคู่ค้าที่สำคัญของไทย โดยในปี 2559 มีมูลค่าการค้ารวมกว่า 40,133 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยไทยส่งออกไปสหภาพยุโรปกว่า 22,044 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นำเข้าจากสหภาพยุโรป 18,089 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น