xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ด ปตท.ไฟเขียวเซ็นสัญญาซื้อ LNG โมซัมบิก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


บอร์ด ปตท.ไฟเขียวทำสัญญาซื้อขายก๊าซแอลเอ็นจีโครงการโมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์ แอเรีย วัน จำนวน 2.6 ล้านตัน/ปี คาดเซ็นสัญญาได้ต้นปีหน้า แนะรัฐระบุในทีโออาร์ประมูล 2 แหล่งปิโตรเลียมทั้งเอราวัณและบงกช ให้ผู้ชนะประมูลต้องรักษาระดับการผลิตไว้แม้จะยังไม่สิ้นสุดสัญญาเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบภาพรวมประเทศ และว่าจ้างคนไทย 99% ด้วย

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 15 ก.ย.ที่ผ่านมา เห็นชอบให้ ปตท.ทำสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) โครงการโมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์ แอเรีย วัน ซึ่ง บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม ถือหุ้นอยู่ 8.5% ปริมาณ 2.6 ล้านตัน/ปี เริ่มรับก๊าซแอลเอ็นจีได้ในปี 2565-2566 หลังจากได้มีการเจรจาตกลงเงื่อนไขราคารับซื้อก๊าซฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ ทาง ปตท.จะส่งเรื่องดังกล่าวให้หน่วยงานรัฐอนุมัติต่อไป เช่น คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ส่วนร่างสัญญาซื้อขายก๊าซแอลเอ็นจีจะให้อัยการพิจารณาด้วย คาดว่า ปตท.จะลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซแอลเอ็นจีโครงการดังกล่าวได้ราวต้นปี 2561

สำหรับเงื่อนไขสัญญารับซื้อก๊าซแอลเอ็นจีโครงการโมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์ แอเรีย วันจะอิงสูตรราคาตลาดเฮนรี ฮับที่สหรัฐฯ และราคาน้ำมัน โดยมีเงื่อนไขที่ดีกว่าสัญญาซื้อขายแอลเอ็นจีที่ ปตท.ทำกับบีพี เชลล์และปิโตรนาส ทำให้ ปตท.ตัดสินใจทำสัญญาซื้อขายแอลเอ็นจีจากโครงการนี้สูงถึงปีละ 2.6 ล้านตัน มากที่สุดเท่าที่ ปตท.เคยทำสัญญาซื้อขายแอลเอ็นจีระยะยาวมา

นายปิยสวัสดิ์กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันราคาแอลเอ็นจีตลาดจรปรับขึ้นมาอยู่ที่ 7 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู สูงกว่าช่วง 2 เดือนก่อนที่ราคาเฉลี่ย 6 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู เชื่อมั่นว่าในอนาคตหากราคาน้ำมันดิบขึ้นไปแตะ 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ราคาแอลเอ็นจีจะไม่สูงถึง 16 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียูเหมือนในอดีต เพราะสัญญาซื้อขายแอลเอ็นจีระยะยาวที่ ปตท.ทำไว้กับเชลล์ บีพี และปิโตรนาส ราคาแอลเอ็นจีจะอยู่ที่ 10-12 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียูเท่านั้น

โครงการโมซัมบิก โรวูมาฯ มีปริมาณสำรองก๊าซฯ สูงถึง 70 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต มากกว่าปริมาณก๊าซฯ ในอ่าวไทยถึง 10 เท่า ขณะนี้โครงการดังกล่าวได้รับการอนุมัติสัมปทานการบริหารจัดการทางทะเลและท่าเรือ (Marine Concessions) จากรัฐบาลโมซัมบิกแล้ว และอยู่ระหว่างการเจรจาสัญญาเงินกู้ในรูปแบบ Project Finance กับสถาบันการเงิน ก่อนตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (Final Investment Decision)ได้ในปี 2561

นายปิยสวัสดิ์กล่าวถึงการเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมทั้งเอราวัณและบงกชที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2565-2566 ว่า เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาปริมาณการผลิตก๊าซฯ ในแหล่งดังกล่าวลดลง รัฐควรระบุในประกาศทีโออาร์ให้ผู้ที่ชนะประมูลต้องรักษาระดับการผลิตปิโตรเลียมไม่ให้ลดลงตั้งแต่ก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน

ทำให้ผู้ชนะประมูลต้องเจรจากับผู้ดำเนินการ (โอเปอเรตอร์) เดิมในการรักษาระดับการผลิตเอาไว้ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติในกรณีที่ผู้ชนะประมูลไม่ใช่รายเดิม รวมทั้งกำหนดให้ว่าจ้างคนไทยเข้าทำงานเป็นสัดส่วน 99% เพี่อไม่ให้เกิดปัญหาการตกงาน
กำลังโหลดความคิดเห็น