xs
xsm
sm
md
lg

ไทยแจงสหรัฐฯ เดินหน้า กม.คุ้มครองแรงงาน สบช่องขอให้ปิดการไต่สวนกรณีเอกชนร้องตัด GSP ไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“พาณิชย์” ยันสหรัฐฯ-ไทยเดินหน้าแก้ไขกฎหมายแรงงานตามมาตรฐานองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เตรียมเสนอ ครม. เดือน ก.ย. และชง สนช.เดือน ธ.ค. สบช่องขอสหรัฐฯ พิจารณาปิดการไต่สวนกรณีสมาพันธ์แรงงานสหรัฐฯ เรียกร้องให้ยกเลิกการให้สิทธิ GSP แก่ไทย

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการหารือกับนายวิลเบอร์ รอส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ และนายโรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา ว่า สหรัฐฯ ยินดีและพอใจที่ไทยมีความคืบหน้าการดำเนินการปรับแก้ไขกฎหมายคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพแรงงานให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และได้ขอให้สหรัฐฯ ปิดการไต่สวนกรณีที่สมาพันธ์แรงงานสหรัฐฯ (AFL-CIO) กล่าวหาว่าไทยยังไม่คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของแรงงานอย่างเพียงพอ ซึ่งรวมถึงแรงงานต่างด้าวตามมาตรฐานสากล เนื่องจากไทยได้เดินหน้าเพื่อปรับแก้ไขกฎหมายแรงงานที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับมาตรฐาน ILO แล้ว

ทั้งนี้ ไทยได้ชี้แจงสหรัฐฯ ว่า กระทรวงแรงงานได้ดำเนินการยกร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ และร่าง พ.ร.บ.วิสาหกิจสัมพันธ์ ให้สอดคล้องกับอนุสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศแล้ว และอยู่ระหว่างดำเนินกระบวนการเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมีแผนที่จะเสนอ ครม. ในเดือน ก.ย. 2560 และเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.ในเดือน ธ.ค. 2560 ซึ่งสหรัฐฯ พอใจที่ไทยมีการดำเนินการเพื่อปรับแก้ไขกฎหมายที่ชัดเจน จึงน่าจะนำไปสู่การปิดคำร้องทบทวนการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) แก่ไทย ตามที่ AFL-CIO กล่าวหาไทยต่อไป

ก่อนหน้านี้ สมาพันธ์แรงงานสหรัฐฯ ได้ยื่นคำร้องต่อสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) เมื่อเดือน ต.ค. 2556 ขอให้ถอดถอนสิทธิ GSP ที่สหรัฐฯ ให้ไทย เนื่องจากเห็นว่าไทยไม่ได้มีการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพแรงงาน ซึ่งรวมถึงแรงงานต่างด้าวตามมาตรฐานสากล โดยที่ผ่านมาสหรัฐฯ ยังไม่ได้มีการดำเนินการในเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ และเมื่อสหรัฐฯ ตัดสินใจต่ออายุโครงการ GSP ให้ไทยไปจนถึงสิ้นปี 2560 AFL-CIO จึงได้ยื่นคำร้องต่อ USTR อีกครั้งในปี 2558 ขอให้ถอดไทยออกจากบัญชีรายชื่อประเทศที่ได้รับสิทธิ GSP โดยอ้างเหตุผลว่าการคุ้มครองสิทธิแรงงานของไทยไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ILO

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์สำคัญที่สหรัฐฯ ใช้พิจารณาให้ GSP แก่ประเทศคู่ค้าที่เป็นประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงไทย คือระดับการพัฒนาประเทศ โดยจะต้องมีรายได้มวลรวมประชาชาติต่อหัว (Gross National Income per capita : GNI per capita) ไม่สูงกว่า 12,475 เหรียญสหรัฐ ซึ่งระดับ GNI per capita ของไทยประมาณ 5,720 เหรียญสหรัฐ และประเทศที่จะได้รับสิทธิ GSP จะต้องมีการเปิดตลาดสินค้าและบริการอย่างสมเหตุผล มีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และมีการคุ้มครองแรงงานในระดับมาตรฐานสากล

สำหรับไทยถือเป็นประเทศที่มีมูลค่าการใช้สิทธิ GSP ของสหรัฐฯ สูงเป็นอันดับ 2 รองจากอินเดีย โดยในปี 2559 ไทยใช้สิทธิ GSP เป็นมูลค่า 3.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนการใช้ GSP ร้อยละ 70 ของรายการสินค้าที่ได้ GSP โดยสินค้าไทยที่ได้รับสิทธิ GSP จากสหรัฐฯ ในปัจจุบันมีกว่า 3,400 รายการ เช่น ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ เครื่องดื่ม ถุงมือทำจากยาง เป็นต้น ทำให้สินค้าไทยที่ได้รับสิทธิ GSP มีความได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ เนื่องจากได้รับยกเว้นภาษีนำเข้า
กำลังโหลดความคิดเห็น