นิวซีแลนด์เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับการยอมรับทางด้านการศึกษาที่มีคุณภาพ การเรียนการสอนของนิวซีแลนด์จะมุ่งเน้นให้เด็กมีความคิดอิสระ มีความคิดในเชิงสร้างสรรค์ และความคิดในเชิงวิเคราะห์ กล้าพูด กล้าแสดงออก และส่งเสริมให้เด็กได้พัฒนาศักยภาพของตัวเอง
เพื่อสร้างประสบการณ์ทางด้านการศึกษาแนวใหม่และเปิดโอกาสให้นักเรียนไทยได้สัมผัสการเรียนการสอนในรูปแบบนิวซีแลนด์ โดยไม่ต้องบินไปไกลถึงนิวซีแลนด์ หน่วยงานการศึกษานิวซีแลนด์ (Education New Zealand: ENZ) ได้ยกห้องเรียนต้นแบบและจำลองบรรยากาศการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในรูปแบบของนิวซีแลนด์ให้เยาวชนไทยได้ทดลองเรียนเป็นครั้งแรก ภายในงานนิทรรศการการศึกษานิวซีแลนด์ครั้งที่ 23 ภายใต้แนวคิด “Think new: New Zealand เรียนอย่างไรให้ลูกคิดนอกกรอบ คิดเก่ง คิดเป็น คิดสร้างสรรค์ โดยมีผู้ปกครองและบุตรหลานเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ณ โรงแรมเชอราตัน แกรนด์ สุขุมวิท เมื่อเร็วๆ นี้
นางสาวช่อทิพย์ ประมูลผล ผู้จัดการฝ่ายการตลาดและยุทธศาสตร์ความสัมพันธ์ หน่วยงานการศึกษานิวซีแลนด์ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ห้องเรียนจำลองได้แบ่งการเรียนการสอนรอบละ 25 คน โดยครูสอนภาษาอังกฤษที่ได้รับรางวัลความเป็นเลิศด้านการเรียนการสอน สถาบันการศึกษายอดเยี่ยมแห่งปีจากนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ซึ่งบินตรงมาจากนิวซีแลนด์ พร้อมทีมนักเรียนนิวซีแลนด์ โดยเน้นกระตุ้นให้เกิดคำถาม ฝึกให้คิดที่แตกต่าง และมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เป็นสื่อในการเรียนการสอนแบบอินเตอร์แอ็กทีฟ เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนมีส่วนร่วมและสร้างแรงจูงใจให้เด็กอยากเรียนมากขึ้น
“ห้องเรียนจำลองได้เปิดโอกาสให้น้องๆ นั่งเรียนตามใจชอบ ก่อนทำแบบฝึกหัดเพื่อทำการแยกกลุ่มตามสีต่างๆ โดยใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการสแกนคำตอบ จากนั้นเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้พูดคุยระดมสมองแลกเปลี่ยนความเห็น และเล่นเกมเพื่อทดสอบความเข้าใจ ซึ่งนอกจากจะช่วยกระตุ้นให้เกิดคำถามแล้วยังทำให้พวกเขาได้รู้จักเพื่อนใหม่ และแสดงความเห็นได้อย่างเต็มที่” นางสาวช่อทิพย์กล่าวเสริม
คุณครูเจนนี่ (Jenny) ครูสอนภาษาอังกฤษที่ได้รับรางวัลความเป็นเลิศด้านการเรียนการสอน สถาบันการศึกษายอดเยี่ยมแห่งปีจากนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ บินตรงมาเพื่อมาเปิดประสบการณ์การเรียนการสอนห้องเรียนจำลองแบบนิวซีแลนด์ให้กับเยาวชนไทยครั้งนี้ ให้ความเห็นว่า เด็กไทยค่อนข้างขี้อาย แต่ก็มีบางคนที่มั่นใจโต้ตอบได้อย่างฉะฉานสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดี การเรียนการสอนของนิวซีแลนด์จะเน้นการพูดเยอะๆ โดยแบ่งกลุ่มนักเรียนไทยไปเรียนร่วมกับนักเรียนชาวนิวซีแลนด์ เพื่อให้พวกเขาได้ทำงานร่วมกัน จะช่วยให้พวกเขาพัฒนาภาษาอังกฤษได้เร็วขึ้น ผ่านการพูดคุย ถกปัญหา และแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ ร่วมกัน ปัจจุบันมีนักเรียนไทยที่ไปเรียนที่นิวซีแลนด์เยอะมาก เพราะนิวซีแลนด์มีความหลากหลายทางด้านการศึกษา มีช่องทางให้พวกเขาได้ค้นพบตัวเอง และสิ่งหนึ่งที่ทำให้พวกเขาเรียนรู้ได้เร็ว เพราะในคลาสจะมีอาจารย์ 1 คน ต่อนักเรียน 25 คน การให้คำปรึกษาจึงเข้าถึงเด็กได้เร็ว และมีเวลาให้พวกเขาได้ใช้ความคิดมากขึ้น
โดยเด็กๆ ที่เข้าเรียนต่างก็ชื่นชอบคลาสเรียนแบบนี้มาก โดย ด.ช.พชรพงษ์ เพ็ชรช่อจินดา หรือน้องเจย์ อายุ 9 ขวบ บอกว่า ผมว่ามันก็แปลกดีครับ ผมชอบ มันไม่เหมือนกับที่โรงเรียนที่นั่งแยกกันคนละโต๊ะ ห้ามคุยกัน คุณครูจะอยู่แต่หน้าห้องกับเขียนกระดาน พูดไปเรื่อยๆ ไม่ถามความเห็นอะไร เรียนเสร็จก็ให้การบ้าน แต่กับห้องเรียนนี้ผมว่ามันสนุกดีครับ ถึงผมจะไม่รู้จักคนที่นั่งร่วมโต๊ะเลย และผมเป็นเด็กด้วย แต่ก็ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนเหตุผลกัน เกี่ยวกับคำตอบต่างๆ ที่ได้ตอบลงไปในกระดาษ ทำให้เรามีส่วนร่วม ไม่เบื่อ และมีความรู้สึกดีกับการเรียน ถ้าที่โรงเรียนมีเรียนแบบนี้ผมก็อยากไปโรงเรียนทุกวัน เช่นเดียวกับ ด.ญ.วิชชานันท์ ผู้ช่วยท้วม บอกว่า สนุกดีค่ะ มันแตกต่างที่เรียนในห้องเลยค่ะ อันนี้เหมือนเราได้แลกเปลี่ยนความคิดกัน แตกต่างกับที่เราเรียนปกติ คือต่างคนต่างก็ก้มหน้าก้มตาจดงานตามที่ครูสั่ง คือเขาจะแบ่งกลุ่มออกเป็นสีๆ ทำให้เราได้รู้จักเพื่อนใหม่ ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
ขณะที่ผู้ปกครองที่ร่วมสังเกตการณ์ นายพงษ์ศักดิ์ เพ็ชรช่อจินดา (คุณพ่อ) เล่าว่า ผมว่าการให้เด็กๆ เรียนเป็นกลุ่มจะช่วยสร้างความสัมพันธ์ในหมู่คณะให้กับพวกเขาได้เป็นอย่างดี กระตุ้นให้เกิดการสนทนา และการแสดงความคิดเห็นต่างๆ หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนๆ การเปิดโอกาสให้เขาได้คิด ได้พูดอย่างอิสระ ไม่ปิดกั้นความคิดเด็ก มันจะทำให้เขากล้าคิดกล้าทำมากขึ้น ศักยภาพในการเรียนของเด็กๆ มันก็จะพัฒนาไปได้ไกล และ น.ส.รัตนาวลี วิมลมาศ (คุณแม่) บอกว่า จากที่ได้นั่งดูเห็นได้ชัดเลยว่าเขาสอนให้เน้นในเรื่องของการคิด (Critical Thinking) การลงมือทำ (Active Learning) และเชื่อมความรู้ทางภาษาซึ่งกันและกัน (Communicative language teaching) ต่างจากบ้านเราที่สอนเด็กเพื่อไปสอบมันจะเน้นไปที่ความจำมากกว่า เข้าใจ ไม่เข้าใจ ไม่เป็นไร ขอให้ตอบถูกเป็นพอ คุณภาพของเด็กเขากับเด็กเรามันก็เลยต่างกัน
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการเสวนา “ทำไมถึงเลือกส่งลูกไปเรียนนิวซีแลนด์” คุณอัช โกสิยพงษ์ เล่าถึงประสบการณ์ให้ฟังว่า ผมเดินทางไปหลายประเทศเพื่อจะเลือกที่เรียนให้กับลูกๆ และที่เลือกนิวซีแลนด์เพราะมันมีความลงตัว ทั้งความปลอดภัย ความสงบ ความเป็นมิตร และคุณภาพทางการศึกษา ผมส่งลูกทั้ง 3 คนไปเรียนที่นิวซีแลนด์เพื่อให้ค้นพบตัวเอง จะได้กลับมาทำงานที่ตัวเองรัก และเพื่อเป็นการติดอาวุธทางภาษาให้กับลูกด้วย โดยผมส่งลูกไปเรียนมัธยมที่โน่นเพื่อให้มีพื้นฐานด้านภาษาที่ดี และมีคอนเนกชัน จากนั้นถ้าลูกจะเรียนอะไรเพิ่มก็แล้วแต่เขา
คุณทัฬห์ โกสิยพงษ์ อายุ 24 ปี ลูกชายคนกลางของคุณอัช บอกว่า พ่อผมสอนให้รู้จักคิด และทำอะไรหลายๆ อย่างด้วยตัวเองครับ คิดและไตร่ตรองก่อน เมื่อคิดดีแล้วก็ลงมือทำ และทำซ้ำหลายๆ ครั้งเพื่อตกผลึกทางความคิด จะได้ตัดสินใจได้ดีขึ้น และเรียนรู้จากข้อผิดพลาดแล้วนำมาแก้ไข ซึ่งตรงกับรูปแบบการเรียนของนิวซีแลนด์ที่เน้นให้เราคิดแตกต่างและให้อิสระทางความคิดกับเรา ทำให้เรารู้ว่าเราชอบอะไร อยากเป็นอะไร และที่นิวซีแลนด์ในห้องเรียนก็มีคนน้อยทำให้รู้จักกันหมดสนิทกับเพื่อนทุกคนทำให้ได้คอนเนกชัน และทุกวันนี้เราก็ยังติดต่อกันอยู่ โดยตนไปเรียนที่นิวซีแลนด์ตอนมัธยม (เกรด 12) และกลับมาเรียนปริญญาตรีที่ไทย โดยจบคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ด้าน ดร.ฉัตรชัย ธนาฤดี นายกสมาคมนักเรียนเก่านิวซีแลนด์ บอกเล่าประสบการณ์ที่ได้จากการไปศึกษาต่อนิวซีแลนด์ว่า เมื่อไปเรียนกลับมาแล้วได้มากกว่าภาษาแน่นอน สรุปได้ 3 ข้อหลักๆ คือ 1) ความสามารถในการมองเห็นภาพรวม ด้วยทักษะทางด้านความคิดต่างๆ ที่ปลูกฝังให้เรา ทำให้เรามองภาพรวมด้านธุรกิจของเราออกทั้งหมด ที่มากกว่าการบัญชี บุคคล ลูกค้า เงินทุน กำไรต่างๆ 2) สามารถคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงได้ เช่น ทิศทางการอุตสาหกรรม ความเปลี่ยนแปลงของโลก ความผันผวนของตลาด อัตราน้ำมันโลก ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงภายในประเทศ สถานการณ์ทางการเมือง และอื่นๆ อีกมากมายเพื่อวางแผนรับมือกับอุปสรรคต่างๆ ที่จะเข้ามาได้ และคิดพลิกแพลงโอกาสให้กับธุรกิจ ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ได้อย่างลงตัว และ 3) การเชื่อมต่อ หรือความสามารถในการเชื่อมโยงความคิด จากภาพรวมที่เราเห็น เราจะสามารถคิดคาดคะเนเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างชัดเจน และนำประเด็นความคิดมาเชื่อมต่อกัน เช่น หากสถานการณ์บ้านเมืองเป็นแบบนี้ เราต้องทำอะไรต่อ ถ้ามีกฎหมายออกมาแบบนี้ จะต้องเอาแผนนี้ที่วางไว้มารองรับ จะร่วมลงทุนกับใคร แข่งขันทางการตลาดแบบไหน
ผู้สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษานิวซีแลนด์ ดูได้ที่ www.studyinnewzealand.govt.nz