เผย 7 รายชื่อเด็กเก่ง ผลคะแนน “แอดมิชชัน” สูงสุด 7 สาขาวิชา พร้อมเปิดเทคนิคเคล็ดลับความเก่ง ทั้งด้านภาษาและการคำนวณ
ผลการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในระบบกลาง (แอดมิชชัน) ประจำปี 2560 ซึ่งจะประกาศผลในช่วง 18.00 น. ของวันที่ 15 มิ.ย. 2560 นั้น มีนักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกฯ ได้คะแนนสูงสุดของคณะ/สาขาวิชา จำนวน 7 ราย คือ นายครองพิภพ วิรัตินนท์ หรือ เก๊ต โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จ.นครศรีธรรมราช ผู้ทำคะแนนสูงสุด 89.03 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นายธรรมสรณ์ เอี่ยมธนาภรณ์ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพฯ คะแนน 88.07 คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ
นายจิรายุส ทองประสม หรือ บอมบ์ โรงเรียนสตรีวิทยา 2 กรุงเทพฯ คะแนน 87.86 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิยาลัยธรรมศาสตร์
นายธีรภัทร อรุณรัตน โรงเรียน มอ.วิทยานุสรณ์ จ.สงขลา คะแนน 86.75 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
น.ส.ณนิฐตา ธานินทร์ปฐมรัฐ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ กรุงเทพฯ คะแนน 86.51 คณะจิตวิทยา จุฬาฯ
น.ส.สุชัญญา ยิ้มอยู่ โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) กรุงเทพฯ คะแนน 84.38 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ
และ นายเศรษฐบุตร ศรีใจอินทร์ หรือ ไบรท์ โรงเรียนสตรีศรีน่าน จ.น่าน คะแนน 82.03 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ
ทั้งนี้ นายครองพิภพ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ตนไม่ติดรับตรงคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ จึงมายื่นแอดมิชชันแทน ซึ่งตนก็รู้สึกดีใจมากที่สามารถเข้าได้ ส่วนสาเหตุที่เลือกเรียนนิเทศศาสตร์ เพราะมีความสนใจเรื่องของภาพยนตร์และการสื่อสาร จึงอยากเข้ามาเรียนรู้ แม้ช่วง ม.ปลาย จะเรียนสายวิทย์-คณิต ก็ตาม ซึ่งตนรู้สึกว่า ยังไม่ใช่ทางของตนเองเท่าไร เมื่อเข้ามหาวิทยาลัยจึงตัดสินใจเลือกเรียนในสิ่งที่ชอบและเป็นตัวเองมากกว่า สำหรับเคล็ดลับในการเรียน จะเน้นตั้งใจเรียนในชั้นเรียน มีเรียนพิเศษวันเสาร์-อาทิตย์ เฉพาะวิชาคณิตศาสตร์เท่านั้น ส่วนเพื่อนที่พลาดหวัง ขอฝากว่าถ้าเราพยายามเต็มที่แล้ว อย่าเสียใจ และอย่าเพิ่งท้อ ยังมีอีกหลายสถาบันที่เปิดรับ
นายครองพิภพ กล่าวว่า ส่วนการเข้ามหาวิทยาลัยระบบ TCAS ที่จะเริ่มใช้ในปี 2561 เท่าที่ติดตามข่าวมองว่า ระบบใหม่นี้น้องๆ น่าจะค่อนข้างเสียโอกาส เพราะให้สิทธิและสอบแค่ครั้งเดียว แต่ระบบแอดมิชชันมีโอกาสถึง 2 ครั้งในการสอบแกท แพท และนำคะแนนที่ดีที่สุดไปยื่น แต่สำคัญที่สุดคืออยู่ที่การเตรียมตัวของเราเองด้วย ซึ่งจากประสบการณ์ตนมองว่า วิชาสำคัญๆ ที่เราต้องทำคะแนนให้ดี โดยเฉพาะแกท ในส่วนของภาษาอังกฤษ เพราะเป็นวิชาที่หลายมหาวิทยาลัยให้ใช้ยื่นด้วย
ด้าน นายจิรายุส กล่าวว่า ที่เลือกคณะศิลปกรรมศาสตร์ เอกภาษาและวรรณคดีอังกฤษ เพราะสนใจและชอบเรื่องของภาษามาก เคล็ดลับในการฝึกภาษาของตน คือ ชอบอ่านวรรณกรรมอังกฤษ และดูซีรีส์ต่างประเทศ ขณะที่โรงเรียนก็จัดโครงการพิเศษสอนด้วย คือ ไม่จำเป็นต้องอยู่กับเนื้อหาบทเรียน อยู่กับบทละครชอบได้ถกเถียง ไม่ต้องท่องจำ ทำบ่อยจนชำนาญ เปิดมุมมองหลายมุมมอง น่าสนุกน่าตื่นเต้น ซึ่งการที่เรารู้และเข้าใจภาษาต่างประเทศจะเป็นการเปิดโลก ได้รู้เรื่องราวต่างๆ กว้างขึ้น ไม่ใช่แค่รู้แต่ในประเทศ โดยตั้งแต่ ม.6 ก็อ่านหนังสือฝึกเตรียมความพร้อมเรื่องภาษา สั่งสมไป 2 - 3 ปี เรียนพิเศษภาษาอังกฤษบ้างเพิ่มคำศัพท์ ส่วนการแอดมิชชันครั้งนี้ไม่คิดว่าตนจะได้คะแนนสูงสุด จึงรู้สึกดีใจและตื่นเต้นมาก โดยตั้งใจว่าจะเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ เพราะอยากให้ความรู้ที่ได้มาได้ถ่ายทอดความรู้กับเด็ก
“สำหรับเพื่อนๆ ขอให้เตรียมตัวเองความรู้และจิตใจ ไม่อยากให้เครียดเกินไปไม่ใช่สิ่งสุดท้ายให้ทำให้ดีที่สุดผลออกมาต้องยอมรับ เชื่อว่าผลจะออกมาดี ควรเตรียมตัวให้พร้อมศึกษาให้ดี ส่วนการสอบ TCAS จากที่ติดตามก็รู้สึกว่าน้องๆจะต้องเตรียมตัวมากขึ้น เพราะสอบรอบเดียว ดังนั้น ต้องวางแผนให้ดี ถ้าทางแรกไม่ได้ก็ต้องมีทางที่สองไว้เผื่อเลือก” นายจิรายุส กล่าว
ขณะที่ นายเศรษฐบุตร กล่าวว่า จริงๆ ตนเรียนคณะแพทยศษสตร์ ม.เชียงใหม่ อยู่ชั้นปีที่ 1 แต่เป็นคนชอบเรื่องการคิดคำนวณ จึงตัดสินใจยื่นแอดมิชชันอีกครั้ง โดยเลือกคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เป็นอันดับแรก ก็รู้สึกดีใจที่สอบได้ ส่วนจะมาเรียนหรือไม่คงต้องปรึกษากับครอบครัวก่อน สำหรับการคำนวณตนจะเน้นฝึกทำแบบทดสอบสม่ำเสมอ ทำให้เราได้ฝึกการคิดเวลาไปเจอโจทย์ในการทำข้อสอบต่างๆ เราก็จะทำได้ง่ายขึ้น ขณะที่วิชาอื่นๆ ที่เน้นความจำ ตนจะเน้นจดโน้ตไว้สั้นๆ แล้วก็มาอ่านทำความเข้าใจ และมีการพูดคุยกับเพื่อนเพื่อเป็นการทบทวนความรู้ไปในตัวด้วย