xs
xsm
sm
md
lg

อุตสาหกรรม-เกษตรกรรม จูงมือพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“เศรษฐกิจนำ น้ำมา เกษตรก็ต้องได้รับประโยชน์ด้วย” ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เอ่ยเป็นประโยคแรกว่าด้วยบทบาทน้ำในเขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว ที่รัฐต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหลายอย่างรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ ไม่ว่าโครงข่ายถนน ระบบราง ไฟฟ้า รวมทั้งน้ำ และ ฯลฯ

ว่ากันที่จริงกรมชลประทานไม่จำเป็นต้องมาดูแลน้ำเพื่อการเกษตรในจังหวัดสระแก้วอันเนื่องจากการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสระแก้ว เพราะการประปาส่วนภูมิภาคได้รับการจัดสรรน้ำจากกรมชลประทานผ่านอ่างเก็บน้ำพระปรง จ.สระแก้ว สำหรับใช้ในเขตเศรษฐกิจพิเศษปีละ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะนี้อยู่ระหว่างการวางท่อ คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปี 2561

“แต่เราต้องดูภาคเกษตรกรรมด้วย ไม่เฉพาะแต่ภาคอุตสาหกรรมอย่างเดียว เพื่อให้ทุกฝ่ายได้มีโอกาสจากน้ำด้วยกัน ตามนโยบายของรัฐบาล”

สระแก้วเป็นจังหวัดทางภาคตะวันออก ประกอบด้วย 2 ลุ่มน้ำ คือ ลุ่มน้ำปราจีนบุรี กับลุ่มน้ำโตนเลสาบ

ในส่วนของลุ่มน้ำปราจีนบุรี กรมชลประทานได้พัฒนาแหล่งน้ำทั้งลุ่มอย่างเป็นระบบเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งได้ผลดีขึ้นตามลำดับ โดยการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำพระปรง พระสะทึง ห้วยโสมง คลองหลวงรัชโลทร และกำลังก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองประแกด อ่างเก็บน้ำคลองหางแมว อ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่ นอกเหนือจากอ่างเก็บน้ำที่มีอยู่ก่อนแล้ว เช่น อ่างเก็บน้ำประแสร์ ดอกกราย หนองปลาไหล บางพระ มาบประชัน คลองระบม คลองสียัด เป็นต้น

ที่สำคัญ อ่างเก็บน้ำเหล่านี้สามารถพ่วงเป็นอ่างพ่วงระหว่าง จ.จันทบุรี-จ.ระยอง-จ.ชลบุรี ช่วยให้การบริหารจัดการน้ำตอบโจทย์บรรเทาน้ำท่วมและแก้ไขน้ำแล้งได้ผลดี และมีส่วนช่วยสนับสนุนเขตเศรษฐกิจสำคัญ คือโครงการอุตสาหกรรมชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก หรืออีสเทิร์นซีบอร์ด ได้อย่างมั่นคง

สำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว มีพื้นที่กว่า 2 แสนไร่ ครอบคลุมพื้นที่ อ.อรัญประเทศ 3 ตำบล และ 1 ตำบลของ อ.วัฒนานคร

ปัญหาน้ำป้อนเขตเศรษฐกิจไม่มีปัญหา เหลือเพียงปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ อ.อรัญประเทศ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษด้วยจะแก้ไขอย่างไร

ดร.สมเกียรติกล่าวว่า แม่น้ำสายหลักที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่อรัญประเทศ คือ แม่น้ำพรมโหด ความยาว 60 กิโลเมตร ไหลผ่านเมืองไปลงโตนเลสาบของกัมพูชาเกือบทั้งหมด โดยแทบไม่มีแหล่งน้ำเก็บกัก พื้นที่ลุ่มน้ำพรมโหดที่ผ่านมาเผชิญทั้งปัญหาน้ำท่วมและการขาดแคลนน้ำตลอดมา ดังนั้น ในโอกาสที่มีโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสระแก้ว กรมชลประทานจึงจัดทำโครงการพัฒนาลุ่มน้ำพรมโหด เพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยควบคู่ปัญหาภัยแล้ง ซึ่งจะช่วยทั้งเขตเศรษฐกิจและพื้นที่เกษตร อ.อรัญประเทศไปพร้อมๆ กัน

โดยในชั้นต้นวางแผนคัดเลือก 4 โครงการ ประกอบด้วย
โครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง 2 โครงการ ได้แก่
1. โครงการอ่างเก็บน้ำหนองบัวเหนือ ต.หันทราย อ.อรัญประเทศ จากความจุเดิม 4 หมื่นลูกบาศก์เมตร เป็น 8 ล้านลูกบาศก์เมตร จะเพิ่มพื้นที่ชลประทานฤดูฝน 5,800 ไร่ และฤดูแล้ง 1,740 ไร่

อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวยังต้องขึ้นอยู่กับความต้องการของราษฎรด้วย เนื่องจากสภาพอ่างเก็บน้ำปัจจุบันเป็นโครงการขนาดเล็ก พื้นที่ 28 ไร่ ความจุ 4 หมื่น ลบ.ม. และไม่มีระบบส่งน้ำ ถ้าขยายความจุเป็น 8 ล้าน ลบ.ม. ต้องใช้พื้นที่ 1,000 ไร่ ซึ่งต้องถามความสมัครใจของราษฎรในพื้นที่

“ยืนยันได้ว่าโครงการอ่างเก็บน้ำนี้ไม่ใช่เพื่อเขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว แต่เป็นภาคเกษตรกรรมโดยตรง ซึ่งต้องการพัฒนาควบคู่ไปกับอุตสาหกรรม เพราะเขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้วเขาได้น้ำจากอ่างเก็บน้ำพระปรงอยู่แล้ว ซึ่งไม่เกี่ยวกับโครงการนี้เลย” รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าว ในขณะลงพื้นที่พูดคุยกับราษฎรบ้านหนองบัวเหนือ

2. โครงการประตูระบายน้ำบ้านคลองยาง ในแม่น้ำพรมโหด บริเวณ ต.ผักขะ อ.วัฒนานคร พร้อมทั้งขุดลอกแม่น้ำพรมโหดเพิ่มความจุลำน้ำมากขึ้น ซึ่งจะเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 1,200 ไร่

“บริเวณนี้มีความสำคัญ เพราะเป็นจุดรวมของลำน้ำย่อยๆ ของแม่น้ำพรมโหดที่ไหลลงมารวมกันหลายสาย การก่อสร้างประตูระบายน้ำจะช่วยบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำได้ดีขึ้น อย่างน้อยบรรเทาน้ำท่วมพื้นที่การเกษตรและที่อยู่อาศัยของเกษตรกร และเก็บน้ำไว้ในลำน้ำสำหรับการเพาะปลูกด้วย จากเดิมที่ทำเฉพาะนาปีได้ผลผลิตเฉลี่ยเพียง 40 ถัง/ไร่เท่านั้น ต่อไปเมื่อมีประตูระบายน้ำแล้วยังมีน้ำสำหรับเพาะปลูกในฤดูแล้งได้ด้วย โดยไม่ต้องออกไปรับจ้างในเมืองเหมือนปัจจุบัน” ดร.สมเกียรติกล่าว

โครงการแก้ไขปัญหาอุทกภัย 2 โครงการ ได้แก่
1. โครงการประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำ พร้อมพนังป้องกันน้ำท่วม บริเวณปลายแม่น้ำพรมโหดก่อนลงโตนเลสาบ
2. โครงการคลองผันน้ำเลี่ยงเมือง (คลองพรมโหด 2) จากท้ายอ่างเก็บน้ำหนองบัวเหนือ เพื่อตัดยอดน้ำที่จะไหลลงเมืองอรัญประเทศ และเขตเศรษฐกิจพิเศษ บริเวณ ต.ท่าข้าม อ.อรัญประเทศ ปากคลองกว้าง 46 เมตร ลึก 4 เมตร ความยาว 24 กิโลเมตร โดยมีอาคารควบคุมน้ำปลายคลอง

“โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเหล่านี้ตอบโจทย์น้ำท่วมเขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว พร้อมๆ กับตอบโจทย์น้ำท่วมและแก้ไขการขาดแคลนน้ำสำหรับภาคเกษตรในพื้นที่พร้อมๆ ไปด้วย” ดร.สมเกียรติกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น