พลังงานบริสุทธิ์จับมือ กฟน.และพันธมิตรตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าปีนี้ร่วม 100 สถานี ก่อนเพิ่มเป็น 1,000 สถานีในปี 61 ใช้เงินลงทุนรวม 600 ล้านบาท หวังกระตุ้นการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในไทย รองรับแผนตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมมูลค่า 1 แสนล้านบาท โดยเฟสแรกลงทุนผลิต 1GWh คาดผลิตเชิงพาณิชย์ในปี 62
วันนี้ (29 ส.ค.) บริษัท พลังงานมหานคร จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เพื่อผลักดันโครงการสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ภายใต้เครื่องหมายการค้า "EA Anywhere" และพันธมิตรนับสิบรายเพื่อดำเนินการตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าทั่วกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดให้ครบ 1,000 สถานีภายในสิ้นปี 2561 เพื่อเตรียมพร้อมและส่งเสริมให้เกิดการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าทั้งประเภทปลั๊กอินไฮบริดจ์ และประเภทแบตเตอรี่ ทั้งประเทศที่รัฐตั้งเป้าหมายไว้รวม 1.2 ล้านคันภายในปี 2579
นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทพลังงานบริสุทธิ์ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าหมายสิ้นปีนี้จะมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าทั้งสิ้นราว 100 สถานี และภายในปี 2561 จะมีจุดบริการทั่วประเทศจำนวนทั้งสิ้น 1,000 สถานี ซึ่งจะติดตั้งในพื้นที่ของหน่วยงานราชการและเอกชน วางงบลงทุนรวม 600 ล้านบาท
สำหรับรายได้จากโครงการนี้จะมาจากการคิดอัตราค่าบริการซึ่งแต่ละสถานีจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสถานที่ตั้ง โดยจะแบ่งค่าบริการกับพันธมิตรที่ให้พื้นที่ในการติดตั้งสถานีชาร์จฯ แต่ค่าไฟฟ้านั้นจะเป็นอัตราที่รัฐกำหนดไว้ โดยบริษัทคาดว่าสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าจะคืนทุนภายใน 5-7 ปี
นายสมโภชน์กล่าวว่า การเปิดสถานีอัดประจุไฟฟ้าจะเป็นตัวเร่งการใช้รถไฟฟ้าในไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีส่วนสนับสนุนแผนการตั้งโรงงานแบตเตอรี่ลิเทียมขนาดกำลังผลิต 50 GWh มูลค่าการลงทุน 1 แสนล้านบาทในไทยของบริษัทฯ โดยบริษัทจะนำเทคโนโลยีแบตเตอรี่ลิเทียมจากบริษัทไต้หวันที่ได้เข้าไปถือหุ้นอยู่ 35% โดยเฟสแรกจะผลิตแบตเตอรี่ 1 GWh มูลค่าลงทุนรวมไม่เกิน 3 พันล้านบาท คาดว่าจะเริ่มผลิตและรับรู้รายได้ภายในต้นปี 2562 หลังจากนั้นอีก 18 เดือนจะลงทุนเฟส 2 อีก 49 GWh ซึ่งการลงทุนเฟส 2 นี้จำเป็นต้องหาพันธมิตรร่วมทุนที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาหลายบริษัท โดย EA จะถือหุ้นใหญ่
ปัจจุบันบริษัทได้เปิดตัวสถานีอัดประจุไฟฟ้า EA Anywhere ที่อาคารจอดรถศูนย์การค้าสยามพารากอน ชั้น GA NORTH และสยามคาร์พาร์ค ชั้น GB ซึ่งแต่ละสถานีจะรองรับการชาร์จได้พร้อมกันถึง 6 คัน ใช้ได้ทั้งรถยนต์ประเภทปลั๊กอินไฮบริดจ์ และรถยนต์ไฟฟ้า ด้วยเครื่องชาร์จกำลังสูง ขนาด 32A /22 Kw ที่ใช้ปลั๊กเสียบชาร์จแบบมาตรฐาน TYRE 2 โดยลูกค้าสามารถใช้บริการชาร์จไฟฟ้าได้ฟรีไปจนถึงสิ้นตุลาคมนี้
นายชัยยงค์ พัวพงศกร ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กล่าวว่า การลงนาม MOU กับบริษัท พลังงานมหานคร จำกัด บริษัทย่อยของ EA ในครั้งนี้ ถือเป็นการขับเคลื่อนการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ ตลอดจนแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของ กฟน.ในการเดินหน้าธุรกิจสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า และการทำหน้าที่เป็น The Metge : METRO GRID ENABLER เพื่อทำหน้าที่กำกับ ดูแล ให้คำปรึกษาและอนุญาตการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องอัดประจุสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าให้เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดย กฟน.จะรับรู้แผนงานขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้าของเอกชน ทำให้สามารถเตรียมไฟฟ้าให้ได้ตามที่ภาคเอกชนต้องการ
นอกจากนี้ กฟน.จะทำหน้าที่ติดต่อประสานงานกับหน่วยงานราชการที่สนใจ และมีความพร้อมในการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าในพื้นที่ให้บริการ ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ เพื่อให้บริการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า โดยบริษัท พลังงานมหานครจะเป็นผู้สนับสนุนเครื่องอัดประจุไฟฟ้าให้แก่ กฟน. ขณะที่พลังงานมหานครจะติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในพื้นที่ของเอกชนและพันธมิตรต่างๆ เช่น สยามพิวรรธน์ พารากอน, เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์, อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์, สถานีบริการน้ำมันซัสโก้ โรงพยาบาลสมิติเวช, CDC, เวิร์คพอยท์, ทิพยประกันภัย, สภาอุตสาหกรรมฯ เป็นต้น