แม่น้ำหลัก 4 สายที่ไหลลงทะเลอ่าวไทย ไล่จากซ้ายมาขวา ได้แก่ แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำบางปะกง
ระหว่างแม่น้ำจะมีแผ่นดินกั้นอยู่ หากจะให้สะดวกก็ต้องขุดคลอง ฝั่งตะวันออกระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยาก็ขุดคลองแสนแสบเชื่อมเจ้าพระยากับบางปะกง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ต่อมาขุดคลองภาษีเจริญเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยาไปยังแม่น้ำท่าจีน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และในรัชกาลเดียวกันทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองดำเนินสะดวกเชื่อมแม่น้ำท่าจีนกับแม่น้ำแม่กลอง เพื่อการสัญจรสะดวก
คลองดำเนินสะดวก เริ่มขุดตรงปากคลองบางยาง อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ของแม่น้ำท่าจีน ไปทะลุแม่น้ำแม่กลองที่ปากคลองบางนกแขวก อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม ความยาวกว่า 30 กิโลเมตร บริเวณสองฟากฝั่งคลองดำเนินสะดวกล้วนเป็นสวน โดยเฉพาะไม้ผล ชมพู่ ฝรั่ง กล้วย มะพร้าว มะนาว ฯลฯ ที่มีชื่อเสียง รสชาติอร่อย ตั้งแต่โบราณกระทั่งปัจจุบัน เป็นท่วงทำนอง “บางช้างสวนนอก” ที่ควบคู่กับ “บางกอกสวนใน” ซึ่งล้วนโด่งดังเรื่องรสชาติทั้งคู่
สวนเหล่านี้อาศัยแม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน มาภายหลังภารกิจของแม่น้ำท่าจีนมากขึ้นจนยากจะพึ่งพาได้ ส่วนใหญ่อาศัยน้ำแม่กลองเป็นสำคัญ ทั้งโรยมาจากพื้นที่ด้านบนหรืออัดเข้ามาทางคลองดำเนินสะดวกผ่าน ปตร.บางนกแขวก
พ้นจากเขตสวนลงไปทางใต้ คือทะเลอ่าวไทย ซึ่งมีทั้งคุณและโทษต่อสวนผลไม้ย่านนี้
ที่ว่าคุณคือสภาพน้ำกร่อยช่วยเพิ่มรสชาติผลไม้ ที่ว่าโทษคือหากเค็มเกินไปกระทบต่อไม้ผลถึงตายได้
ก่อนถึงทะเลจึงมีโครงการพนังกั้นน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ก่อสร้างตั้งแต่ปี 2538 ความยาว 62 กิโลเมตร โอบล้อมป้องกันพื้นที่ 1.56 แสนไร่ ประกอบด้วย 3 จังหวัด 6 อำเภอ ได้แก่ จ.สมุทรสงคราม ประกอบด้วย อ.บางคนที อ.อัมพวา และ อ.เมือง ในขณะ จ.ราชบุรี ประกอบด้วย อ.ดำเนินสะดวก ส่วน จ.สมุทรสาคร ประกอบด้วย อ.บ้านแพ้ว และ อ.เมือง
ปัญหาของพื้นที่ทองเหล่านี้คือการขาดแคลนน้ำและการรุกล้ำของน้ำเค็ม
ภาวะแล้งเมื่อปี 2557-2559 ส่งผลกระทบต่อพื้นที่นี้อย่างรุนแรง เพราะน้ำต้นทุนจากเขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ ที่ไหลลงมาบรรจบเป็นแม่น้ำแม่กลอง และมีเขื่อนแม่กลองทำหน้าที่เป็นตัวทดน้ำมีปริมาณน้ำลดลงจากเดิมครึ่งหนึ่ง
ปัญหาน้ำขาดแคลนว่าหนักแล้ว หนักกว่านั้นคือน้ำเค็มหนุนสูงผ่านลำน้ำสาขาย่อยๆ ย้อนผ่านพนังกั้นน้ำ ซึ่งชำรุดทรุดโทรมขึ้นไปในพื้นที่เหล่านี้
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงแนวทางแก้ไขปัญหานี้จากผลการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงข่ายระบบชลประทานในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีนว่า ต้องปรับปรุงแนวคันควบคุมน้ำทะเล 62 กิโลเมตร ไปตามแนวตามถนนเอกชัย-พระราม 2 จาก ปตร.บางนกแขวก วกลงมาก่อน แล้วย้อนขึ้นไปที่ ปตร.บางยาง พร้อมกับอาคารบังคับน้ำตามแนวคันควบคุมน้ำทะเล จำนวน 35 คลอง ซึ่งมีทั้งก่อสร้างใหม่ ปรับปรุงของเก่า และอาคารที่ยังใช้ได้อยู่ มาตรการเหล่านี้จะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำขึ้นมาได้ดีขึ้น
“แนวคันควบคุมน้ำทะเลเดิมมีชำรุดและต้องก่อสร้างอาคารเพิ่มเติม ไม่อย่างนั้นจะคล้ายกับก้นรั่วมีน้ำทะเลรุกล้ำผ่านคลองย่อยๆ ดันเข้ามาในพื้นที่การเกษตรนี้ได้”
ขณะเดียวกัน คัดเลือกคลองที่มีศักยภาพในการระบายน้ำในฤดูน้ำหลากและเก็บกักน้ำไว้ในลำน้ำในช่วงฤดูแล้ง 68 คลอง มีทั้งกลุ่มคลองในแนวนอนเชื่อมต่อระหว่างแม่น้ำท่าจีน-แม่น้ำแม่กลอง จำนวน 4 คลอง กลุ่มคลองในแนวเหนือ-ใต้ เชื่อมโยงจากคลองท่าผา-บางแก้วจนถึงทะเล 3 แนว จำนวน 22 คลอง และกลุ่มคลองที่เพิ่มประสิทธิภาพการส่งน้ำและการระบายน้ำ จำนวน 42 คลอง
“คลองธรรมชาติเดิมๆ ใช้งานมานานมีปัญหาตื้นเขินและมีการก่อสร้างบุกรุกลำน้ำ ทำให้ประสิทธิภาพการระบายน้ำต่ำ จึงประสบปัญหาน้ำท่วมทุกปี ในขณะเดียวกัน เวลาส่งน้ำในฤดูแล้งจากแม่น้ำแม่กลองลงมาก็ส่งมาไม่สะดวก ไม่ได้รับบ้าง ถ้าปรับปรุงตรงนี้ได้จะทำให้การใช้น้ำจากแม่กลองประหยัดขึ้นและไม่ต้องส่งอ้อมผ่านคลองท่าสาร-บางปลา” ดร.สมเกียรติกล่าว
แนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จะช่วยให้การเก็บกักน้ำในลำน้ำสาขาดีขึ้น การส่งน้ำต้นทุนในฤดูแล้งจากเขื่อนแม่กลองลงมาในพื้นที่ก็ทำได้สะดวก รวดเร็ว ประหยัดน้ำต้นทุน และคันควบคุมน้ำเค็มก็มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้พื้นที่ 1.56 แสนไร่มีความมั่นคงด้านน้ำ และยังคงเป็นแหล่งผลิตผลไม้สำคัญของลุ่มน้ำแม่กลอง-ท่าจีนต่อไป