xs
xsm
sm
md
lg

เปิดตัวแล้ว! “TAXI OK และ TAXI VIP” เรียกผ่านแอปฯ ไม่ต้องกลัวปฏิเสธ ค่าโดยสารเท่าเดิม ยกระดับบริการ เพิ่มคุณภาพชีวิตทุกมิติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมการขนส่งฯ เปิดตัวรถแท็กซี่ไทยโฉมใหม่ “TAXI OK และ TAXI VIP” เรียกบริการผ่านแอปพลิเคชันค่าโดยสารเท่าเดิม โดยจะเริ่มออกให้บริการได้นับแต่วันที่กฎกระทรวงลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา คาดให้บริการเต็มรูปแบบในช่วงปลายปีนี้ ระบุใช้เทคโนโลยีทันสมัยช่วยเพิ่มประสิทธิภาพยกระดับบริการแท็กซี่ ลดการวิ่งเที่ยวเปล่า เพิ่มรายได้ให้ผู้ขับรถ

วันนี้ (3 ส.ค.) นายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดตัวโครงการ TAXI OK และ TAXI VIP ว่า เพื่อเป็นการยกระดับการให้บริการรถแท็กซี่ไทยสู่มาตรฐานที่เหนือกว่าเดิม ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมความปลอดภัยและศักยภาพในการเข้าถึงบริการอย่างสะดวก รวดเร็ว ภายใต้การดูแลและสนับสนุนจากภาครัฐ บริการดังกล่าวจะเป็นมิติใหม่ของการยกระดับมาตรฐานการให้บริการแท็กซี่ในประเทศไทย กำหนดมาตรฐานรถแท็กซี่ไทยต้องมีความปลอดภัยทุกคัน ยกระดับปรับปรุงการให้บริการให้ดีขึ้น ควบคู่กับการกำกับ ควบคุม คัดกรอง และบังคับใช้กฎหมายจากภาครัฐอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถติดตามรถ ติดตามตัวคนขับรถได้ทุกคน ทุกคัน ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการควบคุม กำกับ ดูแล และบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่ออำนวยความสะดวก มีความปลอดภัยในการใช้บริการ

อีกทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเดินรถ ลดการวิ่งเที่ยวเปล่า เพิ่มรายได้ให้ผู้ขับรถ ควบคู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ประกอบอาชีพแท็กซี่อย่างมีคุณค่าในสังคม เป็นผู้ให้บริการสาธารณะด้วยความสุจริต ดูแลผู้โดยสารด้วยความเป็นมิตร คุ้มครองสิทธิซึ่งกันและกัน ป้องกันปัญหาการปฏิเสธผู้โดยสาร การไม่เปิดมิเตอร์ ทั้งยังสามารถติดตามพฤติกรรมผู้ขับรถตลอดการให้บริการ เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารและยกระดับมาตรฐานการให้บริการรถแท็กซี่อย่างเป็นรูปธรรม

นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กล่าวว่า โครงการ TAXI OK และ TAXI VIP จะมีการจัดตั้งศูนย์ให้บริการรถแท็กซี่ ซึ่งมีหน้าที่ในการควบคุมกำกับดูแลรถแท็กซี่ภายในสังกัด เป็นหน่วยงานกลางระหว่างกรมการขนส่งทางบกกับรถแท็กซี่ในการบริหารจัดการการเดินรถและการให้บริการ โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเอกชนที่มีศักยภาพเป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการแท็กซี่เพื่อยกระดับมาตรฐานการให้บริการรถแท็กซี่ได้อย่างทั่วถึง โดยติดตาม กำกับ รับเรื่องร้องเรียนและแจ้งเหตุต่างๆ

รวมทั้งส่งข้อมูลการเดินทาง หรือความผิดปกติของค่าโดยสาร ไปยังศูนย์บริหารจัดการรถแท็กซี่ของกรมการขนส่งทางบก (DLT TAXI CENTER) ซึ่งจัดตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ควบคุมและกำกับดูแลศูนย์ให้บริการรถแท็กซี่ของผู้ประกอบการเอกชนต่างๆ ให้ได้มาตรฐานตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด โดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการ และมีระบบจัดอันดับคุณภาพการทำงานของศูนย์ให้บริการข้อมูลรถแท็กซี่ เพื่อให้เกิดการแข่งขันกันในการให้บริการแก่ประชาชน โดยยังมีระบบเรียกบริการรถแท็กซี่ผ่านแอปพลิเคชัน “Taxi OK” บนโทรศัพท์ Smart Phone เพื่อตอบโจทย์การเข้าถึงการให้บริการรถแท็กซี่สำหรับผู้โดยสาร เพื่อให้สามารถเรียกใช้บริการรถทุกคันที่อยู่ในสังกัดศูนย์ให้บริการรถแท็กซี่ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว และยังใช้ในการร้องเรียนการให้บริการ รวมถึงตรวจสอบความถูกต้องของค่าบริการได้ ทำให้มั่นใจได้ว่าจะได้รับความปลอดภัย ได้รับการคุ้มครอง พร้อมการช่วยเหลือยามที่เกิดปัญหาได้อย่างทันที

นอกจากนั้น กรมการขนส่งฯ ยังได้ประกาศให้มีการเพิ่มรูปแบบการให้บริการรถแท็กซี่แบบพิเศษ หรือ TAXI VIP สำหรับเป็นทางเลือกแก่ประชาชนที่ต้องการใช้รถที่มีสมรรถนะและความน่าเชื่อถือสูงในการให้บริการ โดยรถที่จะสามารถนำมาใช้เป็นรถแท็กซี่ VIP จะต้องมีมาตรฐานขนาดตัวรถและสมรรถนะรถที่สูงกว่ารถแท็กซี่ทั่วไป เพื่อเพิ่มความปลอดภัย และเพิ่มเติมอุปกรณ์ส่วนควบสำหรับให้บริการที่มีความสะดวกสบายมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการยกระดับการให้บริการทั้งระบบอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ คาดรถแท็กซี่ตามโครงการ TAXI OK และ TAXI VIP จะสามารถเริ่มออกให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปได้นับแต่วันที่กฎกระทรวงลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา สำหรับรถแท็กซี่ที่จดทะเบียนไว้ก่อนกฎกระทรวงมีผลใช้บังคับสามารถเข้าร่วมโครงการได้ในภาคสมัครใจ โดยค่าบริการของระบบรถแท็กซี่ OK จะยังไม่มีการปรับเพิ่มเติมจากเดิมแต่อย่างใด ส่วนอัตราค่าบริการรถแท็กซี่ VIP เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด โดยคาดว่าจะมีรถแท็กซี่ OK ให้บริการเต็มรูปแบบในช่วงปลายปีนี้

กรมการขนส่งฯ ได้นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการเดินรถแท็กซี่เพื่อเพิ่มมาตรฐานความปลอดภัย และเพิ่มช่องทางการหารายได้ให้ผู้ให้บริการแท็กซี่ กำหนดให้รถแท็กซี่ที่จดทะเบียนใหม่ทุกคันติดตั้งเครื่องบันทึกการเดินทางของรถ ประกอบด้วย อุปกรณ์ GPS Tracking ซึ่งเป็นระบบติดตามรถแบบ Real-time พร้อมอุปกรณ์แสดงตัวผู้ขับที่ใช้กับใบอนุญาตขับรถสาธารณะที่กรมการขนส่งทางบกออกให้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยต้องสามารถส่งระยะทาง เวลา พิกัดตำแหน่งรถ เส้นทางการเดินทาง ความเร็วรถ ค่าโดยสารจากมิเตอร์ ระบบประเมินค่าโดยสารเบื้องต้น และระบบตรวจสอบความผิดปกติของค่าโดยสาร หรืออาจติดตั้งมาตรค่าโดยสารแบบ Digital ที่มีคุณสมบัติครบตามเงื่อนไข มีระบบกล้องถ่ายภาพภายในรถแบบ Snap Shot เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้ผู้ขับรถและผู้โดยสาร รวมถึงมีปุ่มฉุกเฉินหรือปุ่ม Emergency สำหรับผู้โดยสารที่สามารถส่งข้อมูลมายังศูนย์ให้บริการรถแท็กซี่และกรมการขนส่งทางบกเพื่อขอความช่วยเหลือได้แบบทันที ทันสถานการณ์
กำลังโหลดความคิดเห็น