xs
xsm
sm
md
lg

“แท็กซี่” ร้องคมนาคมจัดการ “อูเบอร์-แกร็บคาร์” ผิดกฎหมายอย่างเด็ดขาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“แท็กซี่” รวมตัวยื่นหนังสือ “คมนาคม-ขนส่งฯ” เรียกร้องความเป็นธรรม โดยให้ดำเนินการเพื่อยุติ “อูเบอร์-แกร็บคาร์” ที่เป็นรถป้ายดำบริการผิดกฎหมาย ทำลายอาชีพคนไทย ชี้ต้องปิดแอปฯ และเฟซบุ๊กที่เชิญชวนให้เอารถส่วนตัวมาวิ่งหารายได้ ขณะที่ยังเป็นบริษัทต่างชาตินำรายได้ออกนอกประเทศอีกด้วย “อธิบดี ขบ.” เผยอูเบอร์ผิดเหตุรถป้ายดำใช้ใบขับขี่ส่วนตัว ระบุเตรียมประกาศกฎกระทรวงบังคับแท็กซี่ติด GPS, CCTV, ปุ่มฉุกเฉิน เพื่อความปลอดภัย



วันนี้ (20 มี.ค.) สมาคมวิชาชีพผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะแท็กซี่ ได้รวมตัวกันประมาณ 40 คัน เข้ายื่นหนังสือต่อนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อเรียกร้องให้ดำเนินการต่ออูเบอร์ (UBER) และแกร็บคาร์ (GRAB CAR) ที่เข้ามาชิงพื้นที่ทำมาหากินผู้ประกอบการรถแท็กซี่ที่ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีนายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เป็นผู้รับหนังสือ

นายวรพล แกมขุนทด นายกสมาคมวิชาชีพผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะแท็กซี่ กล่าวว่า เราต้องการให้ยุติบทบาทของอูเบอร์และแกร็บคาร์ที่เข้ามาประกอบอาชีพผิดกฎหมายในขณะนี้เพราะการให้บริการในขณะนี้ผิดกฎหมายและกระทบต่อแท็กซี่ที่จดทะเบียนถูกต้อง ขณะนี้ทั้งอูเบอร์และแกร็บคาร์ให้บริการผ่านโซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊ก ต้องบล็อกให้หมด เพราะปัญหาคือมีการเชิญชวนให้สมัครเข้าเป็นคนขับอูเบอร์และเชิญชวนให้ใช้บริการ แสดงว่าไม่เกรงกลัวกฎหมายไทย และยังมายื่นขอให้กระทรวงคมนาคมแก้ไขกฎหมายทำให้ตัวเองถูกต้องอีก สมาคมฯ ขอความเป็นธรรมกับผู้ประกอบอาชีพแท็กซี่ที่อยู่ภายใต้กฎหมายที่ควรได้รับการสนับสนุนและคุ้มครองในการประกอบอาชีพโดยกรมการขนส่งทางบก

ปัจจุบันคนขับแท็กซี่ประสบปัญหาต้นทุนสูง เช่า ค่าเช่ารถ ค่าเชื้อเพลิง อื่นๆ ขั้นต่ำ 1,200 บาทต่อวัน ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายในครอบครัว ส่วนกรณีแท็กซี่ปฏิเสธรับผู้โดยสารเป็นเพียงส่วนน้อยที่สังคมเหมารวมแท็กซี่ทั้งหมดที่มีการทำความดีอยู่บ่อยๆ ยิ่งตอนนี้มีอูเบอร์และแกร็บคาร์ซึ่งเป็นบริษัทต่างชาติ เข้ามาโดยผิดกฎหมาย เรียกบริการผ่านแอปพลิเคชัน เป็นการจงใจแย่งงานและทำลายอุตสาหกรรมแท็กซี่ไทย ทั้งที่มีการต่อต้านในหลายประเทศทั่วโลก เพราะเป็นการนำรถบ้านหรือแท็กซี่ป้ายดำมาวิ่งให้บริการผู้โดยสาร อีกทั้งการชำระค่าโดยสารผ่านบัตรเครดิตอูเบอร์เป็นบริษัทต่างชาติ เป็นการนำเงินรายได้ที่ควรเป็นของคนไทยออกนอกประเทศและจ่ายกลับมาให้คนขับแท็กซี่ป้ายดำโดยไม่เสียภาษี และไม่จดทะเบียนบริษัทอย่างถูกต้องในไทย

“สมาคมฯ ก่อตั้งขึ้นอย่างถูกต้องตามกฎหมาย สมาชิกที่เข้าร่วมมีประมาณ 3,000 กว่าคน ต้องได้รับการอบรมให้เข้าใจกฎระเบียบ ข้อกฎหมายต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่ผู้ประกอบการ และเป็นที่ยอมรับของสังคมประชาชน มีการพบปะแลกเปลี่ยนผ่านแอปพลิเคชันเพื่อให้ความช่วยเหลือกัน ที่ผ่านมาสมาคมฯ ได้พัฒนาศักยภาพคนขับเรื่อยมาจัดทำกองทุนเพื่อนช่วยเพื่อทำโครงการแท็กซี่ฟรีดาวน์ เพื่อลดปัญหาหนี้นอกระบบ”

นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า การทำแอปพลิเคชันเพื่อเรียกใช้บริการแท็กซี่สามารถทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย แต่ประเด็นที่ผิดกฎหมาย คือ การนำแอปพลิเคชันไปใช้เรียกรถยนต์ส่วนบุคคล (ป้ายดำ) เพื่อใช้รับจ้างขนส่งผู้โดยสาร ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ฐานใช้รถยนต์ผิดประเภทจากที่จดทะเบียนไว้ ไม่ใช้มาตรค่าโดยสารตามที่ทางราชการกำหนด ผู้ขับรถไม่มีใบอนุญาตขับรถสาธารณะ ไม่เคยผ่านการตรวจสอบประวัติอาชญากรรม และไม่เข้าสู่ระบบทะเบียนของศูนย์ข้อมูลประวัติผู้ขับรถสาธารณะของกรมการขนส่งทางบก หากมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นประชาชนจะไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมาย

ซึ่งขณะนี้ กรมฯได้จัดทำร่างกฎกระทรวงสองฉบับ ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว เมื่อวันที่ 23 ส.ค.2559 อยู่ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ก่อนส่งกระทรวงคมนาคมลงนามประกาศ ในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ ซึ่งจะเป็นการยกระดับบริการ กำหนดให้รถแท็กซี่ ต้องติดตั้งอุปกรณ์ส่วนควบ GPS Tracking พร้อมอุปกรณ์แสดงตัวผู้ขับรถ, กล้อง แบบสแน็ปช็อต , มีปุ่มฉุกเฉิน (ส่งข้อมูล Online มาที่ศูนย์ GPS ทันที), มีระบบแจ้งเตือนการใช้ความเร็ว รวมถึงจัดทำระบบเรียกใช้บริการผ่านแอพพลิเคชั่นทางโทรศัพท์มือถือเพิ่มความสะดวก ป้องกันปัญหาการปฏิเสธผู้โดยสาร การไม่เปิดมิเตอร์ ติดตามพฤติกรรมตลอด ผู้โดยสารปลอดภัย โดยหลังประกาศจะให้เวลาในการติดตั้งประมาณ 1 ปี โดยผู้ประกอบการจะมีค่าใช้จ่ายในการติดตั้งอุปกรณ์ส่วนควบประมาณ 6,000 บาท โดยหากไม่ดำเนินการ มีโทษปรับ ตามพ.ร.บ.รถยนต์ฯ ไม่เกิน 2,000 บาท

อย่างไรก็ตาม กรมฯจะต่อยอด ด้วย โครงการ TAXI OK / TAXI VIP โดย โครงการ TAXI-OK เป็นการยกระดับบริการรถแท็กซี่กว่า 1 แสนคัน อีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น