xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” จัดเวทีเจรจาซื้อขายยาง คาดตกลงได้ไม่ต่ำกว่า 1.5 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“พาณิชย์” เชิญผู้ซื้อ ผู้นำเข้ากว่า 100 รายจาก 25 ประเทศทั่วโลกเจรจาซื้อขายยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางพารากับผู้ประกอบการไทย คาดตกลงกันได้ไม่ต่ำกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท ด้านผู้ส่งออกยางคาดแนวโน้มราคาดีดขึ้นแน่ หลังมีคำสั่งซื้อเข้ามาต่อเนื่อง

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้จัดงานเจรจาการค้ายางพาราและผลิตภัณฑ์ยางพารา ระหว่างผู้ซื้อ นำเข้าต่างประเทศกว่า 100 ราย จาก 25 ประเทศทั่วโลก เช่น ประเทศในอาเซียน อินเดีย บังกลาเทศ จีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป รัสเซีย อียิปต์ ซาอุดีอาระเบีย อิหร่าน ตุรกี อาร์เจนตินา และสหรัฐฯ กับผู้ประกอบการไทยเกือบ 100 ราย โดยคาดว่าจะเกิดมูลค่าการซื้อขายโดยรวมกว่า 15,000 ล้านบาท

“การจัดงานเจรจาธุรกิจครั้งนี้จะช่วยสร้างโอกาสให้กับอุตสาหกรรมยางพาราไทยที่จะขยายการส่งออกได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มยางล้อ ยางธรรมชาติ ถุงมือยาง ยางคอมพาวด์ และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ ที่ได้รับความสนใจจากผู้นำเข้าเป็นอย่างมาก ซึ่งกระทรวงฯ มีแผนที่จะจัดงานในลักษณะนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายตลาดส่งออกให้กับยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางพาราของไทย รวมทั้งช่วยผลักดันให้ราคายางในประเทศปรับตัวสูงขึ้น” นางอภิรดีกล่าว

นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ผู้นำเข้ายางและผลิตภัณฑ์ยางรายใหญ่จากต่างประเทศที่ตอบรับเข้าร่วมกิจกรรม ประกอบด้วย ผู้นำเข้าจากประเทศจีน เช่น บริษัท ชิงต่าว ดับเบิ้ลสตาร์ ผู้ผลิตและจำหน่ายยางรถยนต์ภายใต้แบรนด์ดับเบิ้ลสตาร์ ซึ่งเป็นแบรนด์อันดับ 1 ของจีน บริษัท ชิงต่าว เซนทูรี่ ไทร์ ผู้ผลิตและจำหน่ายล้อรถยนต์และเครื่องบิน มีชื่อเสียงด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม มีกำลังการผลิต 27 ล้านล้อต่อปี และบริษัท กว่างโจว ซิโน รับเบอร์ ผู้นำเข้ายางพารารายใหญ่ของมณฑลกวางตุ้ง

นอกจากนี้ ยังมีบริษัท บาเรซ อินดัสเตรียล คอมเพล็กซ์ จากอิหร่าน ผู้ผลิตยางรถยนต์และอะไหล่รถยนต์ทำจากยางพาราใหญ่อันดับ 1 ของประเทศ บริษัท คาเร็กซ์ เบอร์ฮัด จากมาเลเซีย ผู้ผลิตถุงยางอนามัยรายใหญ่ของโลก มีกำลังการผลิต 5 ล้านชิ้นต่อปี และบริษัท เดอะ เซาเทิร์น รับเบอร์ อินดัสตรี จากเวียดนาม ผู้ผลิตนำเข้าและผู้ผลิตยางในรถจักรยาน จักรยานยนต์ และรถยนต์ประเภทต่างๆ

สำหรับผู้ประกอบการไทยรายสำคัญที่เข้าร่วมงาน เช่น บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยฮั้ว ยางพารา จำกัด (มหาชน) บริษัท วงศ์บัณฑิต จำกัด และสหกรณ์กองทุนสวนยางอำเภอบ่อทอง จำกัด เป็นต้น

นายกรกฎ กิตติพล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ราคายางพาราในช่วงครึ่งปีหลังมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น โดยราคาน่าจะอยู่ที่ประมาณ 60-70 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) จากปัจจุบันราคาอยู่ที่ กก.ละ 52-23 บาท เนื่องจากผู้ซื้อในตลาดโลกจะมีการกลับเข้ามาซื้อยางพาราจากไทย รวมทั้งปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคอีสาน ส่งผลทำให้กำลังการผลิตยางพาราในประเทศหายไปประมาณ 30% ซึ่งเป็นผลดีต่อราคายางในประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น