xs
xsm
sm
md
lg

กนอ.สั่งนิคมฯ ภาคกลางเฝ้าระวัง พร้อมรับมือหลังพบมวลน้ำสะสม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กนอ.สั่งเฝ้าระวังสถานการณ์ เตรียมแผนรับมือน้ำท่วมโดยเฉพาะพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และสระบุรี 5 แห่ง พร้อมซักซ้อมแผนป้องกันมวลน้ำจำนวนมากที่จะไหลมาจากภาคเหนือ ขณะนี้ยังไม่พบนิคมฯ ใดๆ ได้รับผลกระทบ

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า จากกรณีเกิดอุทกภัยในจังหวัดสกลนครและยังมีพื้นที่เสี่ยงอื่นๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กนอ.ได้สั่งการให้นิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยขณะนี้ยังไม่พบนิคมฯ ใดๆ ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบการ กนอ.ได้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามข้อมูลสถานการณ์น้ำในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศอย่างใกล้ชิด และเตรียมพร้อมศูนย์ปฏิบัติการ กนอ.ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานงานกับนิคมอุตสาหกรรมทุกแห่งในการแจ้งข้อมูลข่าวสารและประสานความช่วยเหลือกรณีฉุกเฉิน รวมถึงกำชับให้นิคมอุตสาหกรรมทุกแห่งปฏิบัติตามแผนป้องกันน้ำท่วม

ทั้งนี้ ในส่วนของพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดสระบุรี จำนวน 5 แห่ง ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมแก่งคอย นิคมอุตสาหกรรมหนองแค นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน และนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร ได้สั่งให้ติดตามสถานการณ์น้ำที่กำลังไหลลงมาจากภาคเหนือ ซึ่งได้รับผลกระทบจากพายุเซินกาในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้มีปริมาณน้ำสะสมเป็นจำนวนมาก และมวลน้ำกำลังไหลลงมาสู่ภาคกลาง โดยให้เตรียมแผนป้องกันรองรับไว้แล้ว

“ในแต่ละนิคมอุตสาหกรรมมีประสบการณ์ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 2554 มาแล้ว แต่เพื่อความไม่ประมาท กนอ.จึงได้สั่งการให้แต่ละนิคมฯ มีการเฝ้าระวังปริมาณน้ำรวมทั้งแผนรับมือและมีการซ้อมปฏิบัติการฉุกเฉินร่วมกับผู้ประกอบการในนิคมฯ ไว้แล้ว ดังนั้น ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมจึงยังคงมั่นใจที่จะรับมือกับปริมาณน้ำในครั้งนี้ และยังไม่รู้สึกวิตกต่อสถานการณ์น้ำแต่อย่างใด ขณะเดียวกัน กนอ.ยังเตรียมพร้อมประสานงานกับศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติในการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด” นายวีรพงศ์กล่าว

ปัจจุบัน กนอ.มีนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศจำนวน 54 แห่ง กระจายอยู่ใน 15 จังหวัด ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.ดำเนินการเอง จำนวน 11 แห่ง และนิคมอุตสาหกรรมที่ร่วมดำเนินงานกับผู้พัฒนา จำนวน 43 แห่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น