นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน จะเกษียณอายุราชการ 30 กันยายน 2560
ใครจะขึ้นมาเป็นอธิบดีกรมชลประทานคนใหม่?
คนใน 2 คนก่อนคือ ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ กับ ดร.ทองเปลว กองจันทร์ เป็นรองอธิบดีด้วยกันทั้งคู่ คนแรกเป็นรองฯ ฝ่ายวิชาการ คนหลังเป็นรองฯ ฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษา
เป็นครั้งแรกที่คู่ชิงมีดีกรีระดับด็อกเตอร์ปริญญาเอก โดยคนแรกได้ทุนปริญญาเอกที่สหรัฐอเมริกา ส่วนคนหลังปริญญาเอกในประเทศไทย
เป็นครั้งแรกที่ไม่มีตัวแทนจากฝ่ายก่อสร้างเข้ามาร่วมวงไพบูลย์ เพราะรองอธิบดีฝ่ายก่อสร้าง นายณรงค์ ลีนานนท์ เกษียณปีนี้เช่นเดียวกับอธิบดีสัญชัย
คนนอกมีเพียงคนเดียว คืออดีตอธิบดีกรมชลประทาน นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อายุราชการถึงปี 2561 โอกาสคัมแบ็กค่อนข้างยาก จึงตัดไป
อีกทั้งกรมชลประทานมีอัตลักษณ์พิเศษ อธิบดีไม่จำเป็นต้องมาจากซี 10 เช่น รองปลัดฯ หรือผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรฯ แต่สามารถขึ้นตรงจากรองอธิบดีได้เลย
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ ถือเป็นดาวรุ่งของกรมฯ เป็นคนเรียนเก่งเป็นที่ 1 ของนักเรียนช่างชลประทานรุ่นที่ 34 บรรจุที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาน้ำอูน จ.สกลนคร นอกจากต้องคลุกคลีกับชาวบ้าน ยังต้องปะทะสังสันทน์อยู่กับเจ้าหน้าที่ยูเสดและธนาคารโลกเป็นประจำ จุดเด่นตรงนี้ทำให้ ดร.สมเกียรติได้รับการวางตัวเป็นผู้ประสานงาน เป็นตัวแทนจากกรมฯ ไปประชุมระหว่างประเทศบ่อยๆ ในเวลาต่อมา
แล้วมาอยู่ฝ่ายจัดสรรน้ำในสำนักงานชลประทานที่ 5 ครอบคลุมพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่อุดรธานี หนองคาย เลย หนองบัวลำภู สกลนคร และบึงกาฬ ก่อนย้ายมาอยู่ส่วนกลาง ฝ่ายแผนงานและโครงการพิเศษ กองแผนงาน ซึ่งต้องคิดวางแผนงานโครงการ และงบประมาณ โดยมีผลงานระดับโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด และเซาเทิร์นซีบอร์ดรองรับ จากนั้นข้ามมาอยู่ที่สำนักบริหารโครงการหรือกองวางโครงการที่เจ้าตัวเคยทำงานอยู่พักหนึ่ง
สำนักบริหารโครงการ เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญยิ่งในการวางโครงการพัฒนาแหล่งน้ำทั้งหลาย โดยเฉพาะขนาดใหญ่ และขนาดกลาง ต้องศึกษา สำรวจ จัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม จนกว่าจะคลอดโครงการแล้วคือได้รับอนุมัติโครงการจากคณะรัฐมนตรี แล้วจึงตกเป็นหน้าที่ของฝ่ายก่อสร้าง
ดร.สมเกียรติเป็นผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ 5-6 ปี ก่อนได้รับแต่งตั้งเป็นรองอธิบดีฝ่ายวิชาการในปี 2560 โดยมีแรงสนับสนุนจากผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ อันเนื่องจากเป็นนักวางแผนโครงการ และเปิดตัวต่อสาธารณะค่อนข้างชัดเจน ในเวทีต่างๆ ที่มีน้ำมักมีชื่อของ ดร.สมเกียรติอยู่ด้วยเสมอ
แต่ถ้ากระทรวงเกษตรฯ ในยุคก่อนที่มีผู้ยิ่งใหญ่ตัวเล็กคอยชี้นำ ดร.สมเกียรติจะไม่มีวันขึ้นเป็นรองอธิบดีได้เลย ทั้งที่เป็น ผอ.สำนักฯ ยาวนานกว่าใครๆ
โดยรวมถือว่า ดร.สมเกียรติครบเครื่อง ผ่านงานหลากหลาย ยกเว้นงานก่อสร้าง ซึ่งทั้งคู่ต่างก็ไม่เคยผ่านงานนี้ แต่ไม่ใช่อุปสรรค เพราะร่ำเรียนมาโดยพื้นฐานอยู่แล้ว และมีรองอธิบดีฝ่ายก่อสร้างดูแลด้วย
ส่วน ดร.ทองเปลว กองจันทร์ เป็นนักเรียนช่างชลประทานรุ่น 35 รุ่นน้อง ดร.สมเกียรติ 1 ปี เติบโตจากสายงานส่งน้ำและบำรุงรักษาอย่างเดียว จากที่เริ่มต้นบรรจุในสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา ข้ามไปเป็นฝ่ายจัดสรรน้ำสำนักงานชลประทานที่ 6 ครอบคลุม ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ แล้วกลับมาสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยาระยะหนึ่ง ก่อนขึ้นเป็นผู้อำนวยการสำนักแห่งนี้เมื่อปี 2559 และเป็นรองอธิบดีฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาในปี 2560 ด้วยแรงสนับสนุนจากนายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีคนก่อนหน้านี้ ซึ่งเติบโตมาจากสายส่งน้ำและบำรุงรักษาเช่นกัน
ในโค้งสุดท้าย ดร.ทองเปลวเร่งเครื่องอย่างมาก เพราะ ดร.สมเกียรติเก็บสะสมคะแนนจากการทำงานมาโดยตลอด ผลงานที่ตีปี๊บเป็นชิ้นโบแดงคือศูนย์น้ำอัจฉริยะ แต่ยังใหม่และไกลกว่าจะประเมินอะไรได้นัก
เปรียบน้ำหนักหมัดตรงนี้ ดร.ทองเปลวเป็นรอง ดร.สมเกียรติค่อนข้างมาก ทั้งประสบการณ์และความหลากหลายของงานที่ผ่านมา รวมทั้งงานชลประทานเชิงยุทธศาสตร์
แต่การขึ้นสู่ตำแหน่งอธิบดีกรมชลประทานยังมีปัจจัยแรงสนับสนุนจากภายในและ ภายนอก ซึ่ง ดร.ทองเปลวอาจได้เปรียบ ดร.สมเกียรติในประเด็นแรงหนุนภายใน นอกจากสายงานส่งน้ำฯ ที่เคยอยู่ ยังมีสายงานก่อสร้างที่ไม่มีตัวแทนขึ้นชิงเก้าอี้อธิบดีเข้าร่วมหนุนด้วย ซื่งเป็นเรื่องที่ผูกโยงเป็นทอดๆ ตลอดมา
ในขณะ ดร.สมเกียรติ แรงหนุนจากภายในไม่หนาแน่นนัก เพราะมีภาพเอาแต่งาน ไม่ค่อยสุงสิง โชคดีที่มีเพื่อนร่วมรุ่น 34 ครองเก้าอี้ผู้อำนวยการสำนักร่วม 10 คนจาก 17 คน ถือเป็นขุมกำลังที่สำคัญในการขับเคลื่อนการบริหารงานของกรมชลประทานในอนาคต
แต่แรงสนับสนุนภายนอก ดร.สมเกียรติได้เปรียบชัดเจน ตรงที่แตะมือกับหน่วยงานภายนอกมาโดยตลอด ตั้งแต่เมื่อครั้งเป็นผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กระทั่งขึ้นรองอธิบดี ทั้งในระดับหน่วยงานภายในประเทศ เช่น หน่วยงานต่างกรม ต่างกระทรวง ที่เกี่ยวข้องกับชลประทาน มูลนิธิปิดทอง และระหว่างประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย กระทั่งหน่วยงานอย่างธนาคารโลก