กรมทางหลวงชนบทเดินหน้าใช้ยางพาราก่อสร้างถนน เผยตั้งแต่ปี 56 ใช้น้ำยางดิบแล้ว 22,659 ตัน มูลค่า 1,132.96 ล้านบาท และปี 60 จะใช้และซ่อมบำรุงถนน 557 โครงการ ใช้น้ำยางดิบ 7,172 ตัน มูลค่า 358.61 ล้านบาท ปี 61 จะใช้อีกมูลค่า 391.56 ล้านบาท พร้อมศึกษาวิจัยทดลองในการเพิ่มสัดส่วนผสมของน้ำยางจาก 5% เป็น 8% เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตเกษตรกรตามนโยบายของรัฐบาล
นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยว่า กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในการสนับสนุนการใช้ยางพารามาเป็นส่วนผสมในโครงการก่อสร้างและซ่อมบำรุงถนน โดยได้มีการวิจัยและพัฒนางานทางเพื่อสนับสนุนการใช้ยางพารามาเป็นส่วนผสมในการก่อสร้างหรือซ่อมบำรุงถนน ซึ่งปัจจุบันพบว่าในผิวแบบพาราแอสฟัลต์คอนกรีตใช้ยางพารากับยางแอสฟัลต์ซีเมนต์ 5% โดยน้ำหนักเป็นอัตราส่วนที่เหมาะสมที่สุด ที่ผ่านมา ทช.ได้นำยางพารามาเป็นส่วนผสม ตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปี 2560 โดยคิดเป็นปริมาณน้ำยางดิบจำนวน 22,659 ตัน หรือน้ำยางข้น 11,330 ตัน คิดเป็นมูลค่ายางพารา 1,132.96 ล้านบาท
สำหรับในปี 2560 นี้ ทช.ได้นำยางพารามาใช้ในการก่อสร้างและซ่อมบำรุงถนน จำนวน 557 โครงการ คิดเป็นปริมาณน้ำยางดิบ 7,172 ตัน หรือน้ำยางข้น 5,386 ตัน คิดเป็นมูลค่ายางพารา 358.61 ล้านบาท โดยมีการนำมาใช้ในงานก่อสร้างชั้นผิวทางของ ทช.อยู่ 2 ชนิด คือ ผิวทางพาราสเลอรีซีล และผิวทางพาราแอสฟัลต์คอนกรีต ซึ่งการนำยางพารามาเป็นส่วนผสมในการก่อสร้างหรือปรับปรุงถนนนั้นช่วยทำให้ถนนสามารถรับน้ำหนักจราจรได้สูงกว่า มีความต้านทานการเกิดร่องล้อได้ดี มีความต้านทานการแตกร้าวจากความล้าสูง เพิ่มความฝืดเพื่อความขับขี่ที่ปลอดภัย ต้านทานการลื่นไถลได้ดีกว่า โดยรวมแล้วจะทำให้ผิวทางมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่ายางมะตอยธรรมดา ส่งผลให้ค่าบำรุงรักษาในระหว่างอายุการใช้งานลดลง นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง และรักษาเสถียรภาพของราคายางพาราภายในประเทศได้อีกทางหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม เพื่อสนับสนุนการใช้ยางพาราในประเทศให้มีปริมาณมากขึ้น ปัจจุบัน ทช.ได้ทดลองก่อสร้างโดยเพิ่มปริมาณยางพาราผสมกับยางแอสฟัลต์ซีเมนต์ให้มากขึ้นเป็น 8% โดยได้ทดลองก่อสร้างไปแล้ว 8 สายทาง ขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตามคุณลักษณะเชิงพฤติกรรมของผิวทาง หากผลการศึกษาทดลองเป็นที่พอใจ ทช.จะปรับปรุงและพัฒนาเป็นมาตรฐานทางเพื่อดำเนินการก่อสร้างให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
และในปีงบประมาณ 2561 ทช.ยังมีแผนการใช้ยางพาราเป็นน้ำยางดิบ 7,530 ตัน น้ำยางข้น จำนวน 3,765 ตัน มูลค่ายางพารารวม 391.56 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางต่อไป