xs
xsm
sm
md
lg

เอกชน 11 รายยื่นซื้อข้าวบริโภคได้ล็อตสุดท้าย 1.6 แสนตัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“พาณิชย์” เผยมีเอกชน 11 รายยื่นประมูลข้าวบริโภคได้ล็อตสุดท้าย 1.6 แสนตัน มูลค่า 1,135 ล้านบาท เตรียมนำผลเสนอประธาน นบข.อนุมัติต่อไป ระบุหากขายได้หมดจะเหลือข้าวในสต๊อกอีกแค่ 2.6 ล้านตัน แต่ตอนนี้ยังทำอะไรไม่ได้ เหตุถูกศาลปกครองกลางสั่งชะลอการขาย ย้ำอุทธรณ์พร้อมให้เหตุผลการชะลอทำรัฐเสียหาย กระทบแผนระบายข้าว ต้องจ่ายค่าเช่าคลังวันละ 5 ล้านบาท เสียบ้านไปวันละหลัง

นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า วันนี้ (18 ก.ค.) กรมฯ ได้เปิดให้ผู้ผ่านคุณสมบัติผู้เสนอซื้อข้าวสารในสต๊อกของรัฐเป็นการทั่วไป ครั้งที่ 3/2560 ปริมาณ 1.6 แสนตัน จำนวน 28 คลัง ยื่นเสนอราคา โดยมีผู้ผ่านคุณสมบัติจำนวน 16 ราย จากผู้ยื่นซองเอกสารคุณสมบัติเมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2560 จำนวน 17 ราย และปรากฏว่ามีผู้สนใจยื่นซองเสนอราคาจำนวน 12 ราย โดยผลการพิจารณาพบว่ามีผู้เสนอราคาซื้อสูงสุดจำนวน 11 รายใน 24 คลัง ปริมาณ 1.6 แสนตัน คิดเป็น 99.93% ของปริมาณข้าวที่เปิดประมูลทั้งหมด ส่วนข้าวที่เหลืออีก 0.07% อยู่ใน 4 คลัง มีปริมาณข้าวรวมกันประมาณ 100 ตัน ไม่มีผู้ยื่นเสนอราคา

โดยการเสนอซื้อข้าวครั้งนี้มีช่วงราคาเสนอซื้อสูงสุด 4,527.24-10,202.30 บาทต่อตัน มีมูลค่ารวมประมาณ 1,135.96 ล้านบาท และข้าวที่มีผู้เสนอราคาซื้อมากที่สุดเป็นข้าวเหนียวขาว 10% ปริมาณ 8 หมื่นตัน คิดเป็น 47.82% รองลงมา ได้แก่ ข้าวขาว 5% ปริมาณ 6 หมื่นตัน คิดเป็น 35.90% ซึ่งกรมฯ จะประมวลผลและนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะทำงานดำเนินการระบายข้าวในสต๊อกของรัฐ และคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว ก่อนเสนอประธานคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) พิจารณาให้ความเห็นชอบการจำหน่ายต่อไป

นางดวงพรกล่าวว่า หากระบายข้าวล็อตนี้ได้หมดทั้ง 1.6 แสนตันก็จะทำให้คงเหลือข้าวในสต๊อกรัฐบาลอีกประมาณ 2.6 ล้านตัน แยกเป็นข้าวเข้าอุตสาหกรรมที่มิใช่คนบริโภค 2.1 ล้านตัน และข้าวเสื่อมเข้าอุตสาหกรรมที่มิใช่ทั้งคนและสัตว์บริโภค 5 แสนตัน ซึ่งปัจจุบันถูกศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ชะลอการขายไว้ก่อน เนื่องจากมีบริษัทแห่งหนึ่งที่ถูกตัดสิทธิการประมูลข้าวยื่นฟ้องต่อศาล กรณีไม่ได้รับการพิจารณาขายข้าวเสื่อม ซึ่งกรมฯ ได้อุทธรณ์คำสั่งต่อศาลปกครองไปแล้ว

“กรมฯ ได้ยืนยันว่าการประมูลข้าว และการตัดสิทธิเอกชนบางรายทำถูกต้องตามขั้นตอน ทุกอย่างชี้แจงได้หมด ซึ่งการที่ชะลอการขายออกไปส่งผลกระทบหลายส่วน ทั้งแผนระบายข้าว และทำให้รัฐต้องรับภาระค่าจัดเก็บข้าวในส่วนที่เหลือถึงวันละ 5 ล้านบาท หรือเสียบ้านหลังขนาดกลางไปวันละ 1 หลัง รวมถึงความไม่มั่นใจต่อระบบการค้าข้าวที่ยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ” นางดวงพรกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น