“กฟผ.” เผยแนวทางการปรับแผนพีดีพีใหม่ของภาครัฐซึ่งต้องร่วมให้ข้อมูลว่าจะเห็นความแตกต่างมากกว่าเดิม เพราะแผนใหม่จะมีพลังงานหมุนเวียนเป็นตัวแปรสำคัญทำให้ต้องมีรายละเอียดมากกว่าแผนเดิมไม่ใช่แค่โรงไฟฟ้าหลักกับสายส่งเท่านั้น แต่กระนั้นถ่านหิน-นิวเคลียร์ยังมีความจำเป็นคงอยู่เพราะพลังงานทดแทนยังไม่สามารถทดแทนได้ทั้งหมด ขณะที่ กฟภ.รับใช้ไฟปีนี้ต่ำกว่าที่คาดจากอากาศเย็น
นายกรศิษฎ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เปิดเผยว่า การปรับปรุงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า หรือ PDP 2015 (ปี 2558-79) ที่กระทรวงพลังงานมอบหมายให้ 3 การไฟฟ้าร่วมให้ข้อมูลเพื่อนำไปปรับปรุงที่คาดว่าจะเสร็จไม่เกินสิ้นปีนั้นจะมีการปรับปรุงใหม่ จำเป็นต้องพิจารณาจากปัจจัยที่เปลี่ยนไปโดยเฉพาะพลังานหมุนเวียนที่เข้ามาในระบบเพิ่มขึ้น ระบบกักเก็บพลังงาน (เอนเนอร์ยีสตอเรจ) ที่จะทำให้พลังงานหมุนเวียนมีเสถียรภาพ ทำให้ระบบเดิมก็ต้องปรับรองรับ ซึ่งทุกอย่างต้องชัดเจนเพื่อไม่ให้การลงทุนสูงเกินไปเพราะที่สุดจะกลายเป็นภาระของประชาชน
“PDP ใหม่จะมีรายละเอียดที่มากขึ้น โดยตามแผนเดิมเราจะเห็นรายละเอียดที่ระบุเพียงแค่จะมีโรงไฟฟ้าใหญ่ และสายส่งอย่างไร ลงทุนเท่าใด แต่ต่อไปจะมีเอนเนอร์ยีสตอเรจอยู่ตรงไหนบ้าง สายส่งจะต้องเป็นสมาร์ทกริด โรงไฟฟ้าเก่าๆ ต้องปรับปรุงก็ต้องอยู่ในแผน แต่ถ่านหิน และนิวเคลียร์เองก็ยังมีความจำเป็นเนื่องจากเป็นเชื้อเพลิงหลัก ถ้าในอนาคตมีพลังงานใหม่ๆ ที่จะทำให้เราก้าวผ่านได้เราก็สามารถยกเลิกได้แต่ตอนนี้ยังไม่มีหรอกครับ” นายกรศิษฎ์กล่าว
ขณะนี้ กฟผ.ได้ปรับโครงสร้างการบริหาร โดยมีการจัดตั้งสายงานด้านพลังงานหมุนเวียนและพลังงานใหม่ขึ้นมาเพิ่มอีกสายงานหนึ่งเนื่องจากเห็นว่าอนาคต กฟผ.เองก็จะเข้ามาพัฒนาพลังงานทดแทนที่จะดำเนินการเป็น 2,000 เมกะวัตต์ โดยเป็นระยะเวลาของการพัฒนา 20 ปี อย่างไรก็ตาม พลังงานหมุนเวียนโดยเฉพาะแสงอาทิตย์ ในขณะนี้ยังคงเป็นพลังงานที่ไม่เสถียรภาพ เมื่อเข้าระบบมามากก็จะกระทบต่อต้นทุนภาพรวม
“ต้นทุนพลังงานหมุนเวียนผู้ประกอบการลดต้นทุนได้จริงแต่ค่าไฟมันไม่ใช่ เพราะวันนี้ค่าไฟฟิลิปปินส์ 6 บาทกว่าต่อหน่วย ไทย 3 บาทกว่าต่อหน่วย ถามว่าเพราะอะไรก็เพราะเราใช้วิธีการกระจายการลงทุนตลอด 20 กว่าปี นั่นหมายถึงใครก็ตามที่อยู่ในระบบทุกวันนี้ก็ได้ไฟถูกแต่มีภาระสังคมไปอีกเพราะมัน 25 ปีใช่ไหม เพราะมันต้องแชร์ แล้ววันหนึ่งคุณเดินจากระบบแล้วทิ้งต้นทุนไว้มันก็ไม่แฟร์กับภาพรวม ไม่เป็นธรรมนะ กฟผ.ต้องดูแลทุกภาคส่วน เราต้องคุยกันตามความจริง ซึ่งเรื่องนี้ต้องหาทางออกร่วมกัน” ผู้ว่าการ กฟผ.กล่าว
นายเสริมสกุล คล้ายแก้ว ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กล่าว่า กฟภ.คงจะให้ข้อมูลร่วมกับ กฟผ. และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) โดยเฉพาะแนวโน้มการใช้ไฟฟ้าในการนำไปวิเคราะห์จัดทำแผนพีดีพีใหม่ ซึ่งทางสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เป็นผู้จัดทำ ซึ่งยอมรับว่าปีนี้ไฟฟ้าที่ลดลงจากที่คาดไว้เหตุผลสำคัญมาจากภาวะอากาศที่ไม่ร้อนมากหากเทียบกับปีที่ผ่านมาเพราะฝนมาเร็ว