“ขสมก.” ยัน “บีทีเอส” คุณสมบัติไม่ครบตามทีโออาร์ถูกตัดประมูล e-Ticket เผยยังไม่มีคำสั่งศาลใดๆ เดินหน้าเซ็นสัญญากับ “ช.ทวี” วันนี้ (15 มิ.ย.) ตามกำหนด ระบุให้เวลาจัดหาเอกสารแล้ว “สมศักดิ์” ยัน e-Ticket รองรับนโยบายตั๋วร่วมและบัตรคนจน 1 ต.ค.ต้องติดตั้งครบ 800 คัน ขณะที่ยึดแบงก์การันตีจาก “เบสท์ริน” 338 ล้าน เตรียมฟ้องเรียกค่าเสียหายที่เหลืออีกกว่า 400 ล้าน ลุ้นผลข้อ กม.เคาะราคากลาง NGV
นายสมศักดิ์ ห่มม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคมและรักษาการผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยว่า กรณีที่กิจการร่วม BMZT Consortium โดยบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส ยื่นฟ้องศาลปกครองขอคุ้มครองกรณีการลงนามเช่าระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์พร้อมอุปกรณ์ (e-Ticket) ในวันที่ 15 มิ.ย. เวลา 14.00 น. ระหว่าง ขสมก.กับ บริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งขณะนี้ ขสมก.ยังไม่ได้คำสั่งศาลใดๆ จึงยังคงกำหนดลงนามสัญญาเหมือนเดิม ยกเว้นแต่จะมีคำสั่งศาลออกมา
โดยประเด็นของกิจการร่วม BMZT ไม่ผ่านคุณสมบัตินั้นเนื่องจากยื่นเอกสารไม่ครบถ้วนตามประกาศทีโออาร์ข้อ 2.12 ที่เป็นสาระสำคัญ โดยเจตนารมณ์ของทีโออาร์ระบุให้ยื่นแสดงหลักฐานต้นฉบับ หรือสำเนาสัญญาของงานหรือหนังสือรับรองผลงาน เพื่อพิจารณาว่าตามสัญญาของผลงานที่นำมาอ้างอิงเริ่มดำเนินการเมื่อใด สิ้นสุดเมื่อใด และข้อ 3.2 (2) คือ ไม่ยื่นสำเนาสัญญาผลงานตามที่ได้แจ้งไว้ในเอกสารหนังสือผลงาน และยื่นหนังสือแสดงเงื่อนไขการเช่าด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ไม่ครบถ้วน
ทั้งนี้ ขสมก.ได้เปิดประมูลด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในโครงการเช่าระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์พร้อมอุปกรณ์ (e-Ticket) ขสมก.ออกประกาศทีโออาร์ครั้งที่ 1 วันที่ 4-10 ม.ค. 60 ประกาศครั้งที่ 2 วันที่ 17-23 ม.ค. 60 และประกาศครั้งที่ 3 วันที่ 26-31 ม.ค. 60 และบอร์ด ขสมก.ได้อนุมัติทีโออาร์ จึงขายซองประมูลวันที่ 7-16 ก.พ. 60 มีผู้มาซื้อซอง 37 ราย โดยมีการชี้แจงเอกสารประมูลในวันที่ 17 ก.พ. มี 34 บริษัทเข้าร่วมรับฟัง และวันที่ 6 มี.ค.มีเอกชน 4 รายยื่นซองประมูล ได้แก่ บริษัท ช.ทวี, กิจการร่วม BMZT, บริษัท ดิจิโอ (ประเทศไทย) จำกัด, กิจการร่วมค้า SETIN โดยบริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และผ่านคุณสมบัติ 2 ราย
“ก่อนเคาะราคาวันที่ 5 เม.ย. ทางกลุ่มบีทีเอสร้องมาแล้วแต่ได้ชี้แจงกันแล้ว เพราะบีทีเอสไม่มีเอกสารสำคัญคือสำเนาสัญญาที่เคยทำงานมา ซึ่งบีทีเอสอ้างว่ามีผลงานที่สิงคโปร์ แต่ทางสิงคโปร์จะไม่มีสัญญา ขสมก.จึงให้ขอการรับรองจากสถานทูตสิงคโปร์ประจำประเทศไทยเพื่อยืนยันว่าประเทศสิงคโปร์ไม่มีหนังสือสัญญา ตั้งแต่วันที่ 17 ก.พ.-22 มี.ค. ทางบีทีเอสไม่สามารถนำหนังสือรับรองจากสถานทูตสิงคโปร์มาได้จึงเป็นเหตุสุดวิสัยที่ต้องตัดสิทธิ์ในการเสนอราคา”
เอกชนมีสิทธิ์ฟ้อง แต่ ขสมก.ยืนยันว่าดำเนินการอย่างถูกต้อง กรณีที่บีทีเอสฟ้องคุ้มครองนี้เชื่อว่ามีเจตนาไม่สุจริตเพราะไม่มีเหตุให้ฟ้อง อีกทั้งบริษัทฯ ไม่สามารถหาเอกสารมาได้ตามทีโออาร์กำหนด อย่างไรก็ตาม การประมูล e-Ticket บนรถเมล์เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ให้ใช้ระบบตั๋วร่วม และรองรับบัตรผู้มีรายได้น้อยของกระทรวงการคลังที่มีผลในวันที่ 1 ต.ค. 60 ซึ่ง ขสมก.จะเร่งติด e-Ticket ในรถ 800 คันแรกให้เสร็จเพื่อรองรับ โดยเป็นโครงการที่ ขสมก.ลงทุนเองเพื่อบริการที่สะดวก หากศาลสั่งคุ้มครองโครงการต้องหยุด ถือว่า ขสมก.ได้ดำเนินการอย่างเต็มที่แล้ว
ขสมก.ยึดแบงก์การันตี “เบสท์ริน” 338.9 ล้านแล้ว เตรียมฟ้องส่วนที่เหลืออีกกว่า 400 ล้าน
สำหรับกรณียกเลิกสัญญา บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด ในการจัดซื้อรถโดยสารใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) จำนวน 489 คัน เมื่อวันที่ 12 เม.ย.นั้น นายสมศักดิ์กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เบสท์รินได้ฟ้อง 3 ประเด็น คือ ให้ศาลกักขังตนเองในฐานะ ผอ.ขสมก., ไม่ให้ยึดหนังสือค้ำประกัน และไม่ให้ ขสมก.เปิดประมูลใหม่ ซึ่งได้ชี้แจงศาลในแต่ละประเด็นแล้ว โดยเมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา ขสมก.ได้ยึดแบงก์การันตีจำนวน 338.978 ล้านบาท โดยธนาคารไอซีบีซี (ไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นผู้สั่งจ่าย ขณะที่ประเด็นกักขังและไม่ให้เปิดประมูลนั้นศาลไม่ได้มีคำสั่งใดๆ
ทั้งนี้ กรณีเบสท์รินฯ ไม่สามารถส่งมอบรถได้ตามสัญญา มีค่าเสียหายรวมเกือบ 800 ล้านบาท ขณะนี้ได้มาเพียง 338 ล้าน ส่วนที่เหลือ ขสมก.เตรียมฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายต่อไปแน่นอน ส่วนรถ 292 คัน เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. กรมการขนส่งฯ ได้ยกเลิกการจดทะเบียนแล้ว และ ขสมก.ยืนยันว่ายังไม่มีการชำระเงินค่ารถใดๆ ดังนั้น กรณีที่เบสท์รินฯ มีใบเสร็จค่ารถวงเงินกว่า 1,000 ล้านบาท และใบกำกับภาษีถือว่าเป็นเอกสารเท็จ ซึ่ง ขสมก.ได้แจ้งยืนยันไปยังกรมสรรพากรแล้ว
โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาเรื่องราคากลาง 4 ,021,710,819.50 บาท รวมค่าซ่อมบำรุง 10 ปี ซึ่งรถมีราคาเฉลี่ยคันละ 3.549 ล้านบาท แต่มีข้อท้วงติงว่าราคาสุดท้ายที่เบสท์รินฯ ประมูล 3,389 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่า 600 ล้านบาท เป็นการเสียประโยชน์หรือไม่ ซึ่งอนุกรรมการกฎหมาย ขสมก.จะมีการประชุมในวันที่ 16 มิ.ย.นี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนจึงต้องเลื่อนกำหนดยื่นซองประมูลจาก 12 มิ.ย.ออกไปเป็น 22 มิ.ย. และจะประกาศผู้ผ่านเพื่อยื่นเสนอราคาในวันที่ 5 ก.ค.ต่อไป ซึ่งการอ้างอิงราคากลางเดิมเพราะเป็นราคาที่ซื้อขายสำเร็จ ขณะที่ราคาที่เบสท์รินฯ ประมูลไม่ประสบความสำเร็จ อีกทั้งยังตรวจพบว่าเอกสารนำเข้าสำแดงราคาคันละ 79,220 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2.95 ล้านบาท บวกกับภาษีนำเข้า 40% หรือ 1 ล้านบาท ต้นทุนรถอยู่ที่คันละ 4.1 ล้านบาท จึงเป็นราคาที่เป็นไปไม่ได้