“กระทรวงพลังงาน” ร่วมกับมูลนิธิอาคารเขียวไทย ประกาศ 7 โครงการที่เข้ารอบการคัดเลือกในขั้นตอนที่ 2 ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน รายละไม่เกิน 10 ล้านบาท เพื่อจัดทำโมเดลธุรกิจที่นำไปปฏิบัติได้จริงต่อไป
พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากการที่กระทรวงพลังงานโดย กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ร่วมกับมูลนิธิอาคารเขียวไทย จัดโครงการสนับสนุนการออกแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities - Clean Energy) เพื่อเป็นแนวทางหรือแบบรายละเอียดเบื้องต้น (Schematic Design) การพัฒนาเมืองของชุมชนสู่เมืองอัจฉริยะ โดยเชื่อมโยงกับการใช้พลังงานในชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งสู่การเป็น Clean Energy และ Green City ให้สามารถเป็นต้นแบบลดการใช้พลังงาน และลดคาร์บอนไดออกไซด์ตามเจตนารมณ์ของรัฐ และยังเป็นการสร้างมิติใหม่ของการพัฒนาเมือง โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการถึง 36 โครงการ นับเป็นความสำเร็จในเบื้องต้นที่มีจำนวนโครงการให้ความสนใจมากขนาดนี้ จนกระทั่งผ่านการคัดเลือกในขั้นตอนที่ 1 ไปแล้ว 16 โครงการ แต่ละโครงการล้วนมีความตั้งใจในการสร้างสรรค์แนวคิดที่จะนำสู่การเป็นต้นแบบเมืองอัจฉริยะอย่างเป็นรูปธรรม และบัดนี้นับเป็นอีกก้าวหนึ่งที่คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะต้องทำงานอย่างถี่ถ้วนที่จะคัดเหลือเพียง 7 โครงการเท่านั้น เพื่อจัดทำโมเดลธุรกิจ ที่นำไปปฏิบัติได้จริงต่อไป
ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กล่าวว่า หลังจากที่กระทรวงพลังงานและมูลนิธิอาคารเขียวไทย ได้เชิญชวนไปยังทุกภาคส่วนเพื่อนำเสนอแผนงานโครงการสร้างเมืองอัจฉริยะต้นแบบ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่ริเริ่มจัดโครงการ Smart City ในรูปแบบนี้ ผลปรากฏว่าได้รับความสนใจมีผู้ร่วมโครงการฯ ถึง 36 โครงการที่มาจากทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจและเอกชนหลากหลายเกินความคาดหมาย ที่มีความมุ่งมั่นที่จะใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและรักษาสิ่งแวดล้อมที่ดี โดยมีผู้ผ่านขั้นตอนที่ 1 จำนวนทั้งสิ้นถึง 16 โครงการฯ ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนฯใน ขั้นตอนที่ 1 โครงการละ 5 แสนบาท
สำหรับผู้ผ่านการคัดเลือกได้จัดเตรียมโครงการในขั้นตอนที่ 2 คือ การจัดทำผังแม่บทการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City Development Master Plan) ที่มีรายละเอียดเบื้องต้นที่ครอบคลุม ผังการใช้ พื้นที่ แผนผังโครงการ การจัดวาง อาคาร และแผนผังต่างๆ ได้แก่ อาคารภูมิสถาปัตย์ ระบบสาธารณูปโภค ระบบผลิต ส่ง และจ่ายพลังงาน ระบบเครื่องกล และไฟฟ้า ระบบสุขาภิบาล ระบบจัดการน้ำเสีย ระบบนำน้ำกลับมาใช้ ระบบระบายน้ำ ระบบกักเก็บน้ำฝน ระบบอัจฉริยะ เป็นต้น รวมทั้งขนาดของระบบต่างๆ เช่น ระบบไฟฟ้า ระบบทำความเย็น ระบบทำความร้อน ระบบน้ำประปา ระบบน้ำเสีย ระบบนำน้ำกลับมาใช้ ปริมาณขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ ระบบพลังงานสะอาด พร้อมทั้งจัดทำรายงานเปรียบเทียบเพื่อแสดงการคำนวณตัวเลขของการประหยัดพลังงาน การประหยัดน้ำการลดปริมาณคาร์บอน การประหยัดค่าก่อสร้าง เป็นต้น
สำหรับผู้ผ่านการคัดเลือกขั้นตอนที่ 1 ทั้ง 16 โครงการ คณะกรรมการได้ทำการคัดเลือกเหลือ 7 โครงการ และทุกโครงการจะได้รับการสนับสนุนเงินจากกองทุนฯ เพื่อใช้ในการดำเนินการขั้นต่อไป รายละไม่เกิน 10,000,000 บาท โดยมีโครงการที่เข้ารอบ ดังนี้
1. นิด้า : มหาวิทยาลัยอัจฉริยะ รู้รักษ์พลังงาน สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน 2. มช. (เมือง) มหาวิทยาลัยอัจฉริยะพลังงานสะอาด 3. เมืองจุฬาฯ อัจฉริยะ 4. ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต : ต้นแบบเมืองมหาวิทยาลัยอัจฉริยะ 5. วิสซ์ดอม วัน-โอ-วัน 6. ขอนแก่น Smart City (ระยะที่ 1) : ขนส่งสาธารณะเปลี่ยนเมือง 7. เมืองใหม่อัจฉริยะบ้านฉาง
ผู้ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนฯ ในขั้นตอนที่ 2 จะต้องดำเนินการจัดทำโมเดลธุรกิจ (Business model) อันประกอบด้วย รายละเอียดเบื้องต้น (Schematic design) ประเมินค่าก่อสร้างเบื้องต้น (Construction budget estimation) วิเคราะห์ค่าใช้จ่ายตลอดอายุโครงการ (Life cycle cost analysis) รายงานการวิเคราะห์ทางด้านเศรษฐศาสตร์ (Financial feasibility study) เพื่อให้สามารถนำไปใช้เป็นโมเดลธุรกิจ (Business model) และนำไปสู่การจัดหาผู้ร่วมทุนและการพัฒนา “เมืองอัจฉริยะ” หรือ “Smart City” ให้เป็นรูปธรรมต่อไปได้
กระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานร่วมกับมูลนิธิอาคารเขียวไทย เดินหน้าพัฒนาโครงการสนับสนุนการออกแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities-Clean Energy) โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานส่วนท้องถิ่น มหาวิทยาลัย องค์กรเอกชน ร่วมโครงการออกแบบและพัฒนาเมืองที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนารูปแบบและโครงสร้างของเมืองการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม และการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน