“กรมเจ้าท่า” จัดสัมมนาศึกษาความเหมาะสมและสำรวจออกแบบ โครงการปรับปรุงขยายท่าเทียบเรือเกาะพีพี จังหวัดกระบี่ เพื่อรองรับประชาชนและนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการ 3.5 แสนคน/ปี เรือโดยสาร 400-500 เที่ยว/วัน แออัดและหนาแน่นส่งผลให้เกิดความไม่ปลอดภัยได้
นายศรศักดิ์ แสนสมบัติ อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) เปิดเผยว่า กรมเจ้าท่าได้เตรียมแผนปรับปรุงแก้ไขและขยายท่าเทียบเรือเกาะพีพี จังหวัดกระบี่ โดยทำการศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ วิศวกรรมและสิ่งแวดล้อม สำรวจออกแบบเพื่อปรับปรุงขยายท่าเทียบเรือเกาะพีพี จังหวัดกระบี่ สำรวจออกแบบรายละเอียดองค์ประกอบโครงการ ปรับปรุงโครงสร้างท่าเทียบเรือ รวมถึงการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ให้มีผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
โดยเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2560 ได้จัดสัมมนาโครงการศึกษาความเหมาะสมและสำรวจออกแบบ เพื่อปรับปรุงขยาย ท่าเทียบเรือเกาะพีพี จังหวัดกระบี่ ครั้งที่ 1 เพื่อประชาสัมพันธ์ชี้แจงข้อมูลข่าวสารของโครงการ เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับทราบ และร่วมแสดงความคิดเห็น โดยสาระสำคัญจะนำเสนอถึงวัตถุประสงค์รายละเอียดของการศึกษาด้านต่างๆ ในภาพรวม ตลอดจนผลกระทบและมาตรการป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการซึ่งจะมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อโครงการดังกล่าวฯ จะดำเนินการทั้งหมด 4 ครั้ง (ในขั้นตอนการศึกษาความเหมาะสม 2 ครั้ง และในขั้นตอนการออกแบบรายละเอียด 1 ครั้ง และภายหลังรายงานการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ฉบับสมบูรณ์ ต้องได้รับการเห็นชอบจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)
สำหรับท่าเทียบเรือเกาะพีพี ตั้งอยู่ในเขตตำบลอ่าวนาง อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติ หาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ประกอบด้วย 2 เกาะใหญ่ คือ เกาะพีพีดอน และเกาะพีพีเล และมีเกาะขนาดเล็กอยู่ใกล้เคียง 4 เกาะ คือ เกาะยูง เกาะไม้ไผ่ เกาะบิดะนอก และเกาะบิดะใน แหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง การเดินทางเข้าออกเกาะพีพีต้องเดินทางทางเรือโดยใช้ท่าเทียบเรือโดยสารบนเกาะพีพีที่กรมเจ้าท่าได้ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2551 รองรับผู้ใช้บริการทั้งในส่วนของนักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการ และประชาชนที่อาศัยอยู่บนเกาะประมาณ 350,000 คนต่อปี รองรับเรือโดยสารประมาณ 400-500 เที่ยวต่อวัน นับว่ามีความแออัดและหนาแน่นส่งผลให้เกิดความไม่ปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม กรมเจ้าท่าซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบในการพัฒนาการขนส่งทางน้ำ อันได้แก่ การก่อสร้างท่าเทียบเรือ เขื่อนกันทรายและคลื่น เขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมทั้งมาตรการเกี่ยวกับความปลอดภัยในการขนส่งทางน้ำ ได้เห็นสมควรปรับปรุงแก้ไขและขยายท่าเทียบเรือดังกล่าว