กรมทางหลวงเพิ่มเกณฑ์ผู้รับเหมาชั้นพิเศษ ประมูลงานเกิน 1,200 ล้าน และโครงสร้างสะพานทางยกระดับ ต้องมีเครื่องจักรเฉพาะด้านและมีประสบการณ์ รวมถึงต้องผ่าน PQ ก่อน “อธิบดี” ย้ำมาตรฐานความปลอดภัยและคุณภาพ เผยอีก 2 ปีมี 3 โครงการใหญ่ “ขยายบรมราชชนนี, ทางยกระดับบนพระราม 2, ยกระดับรังสิต-บางปะอิน จัดอบรมเพิ่มความรู้ความเข้าใจ วิศวกรคุมงานและผู้รับจ้าง ตั้งเป้าไม่มีอุบัติเหตุในการก่อสร้าง
นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนา โครงการมาตรฐานความปลอดภัยและการควบคุมงานก่อสร้างสะพาน โครงสร้างสะพานแบบระบบประกอบชิ้นส่วนคอนกรีตสำเร็จรูป ว่า เนื่องจากกรมฯ มีงานก่อสร้างในพื้นที่ต่างๆ มาก โดยเฉพาะสะพานหรือทางยกระดับขนาดใหญ่ ซึ่งนโยบายสำคัญนอกจากคุณภาพของงานแล้วจะเน้นเรื่องความปลอดภัยสูงสุดด้วย โดยในอีก 2 ปีข้างหน้ากรมฯ จะมีโครงการก่อสร้างสะพานหรือทางยกระดับที่มีการประกอบชิ้นส่วนขนาดใหญ่หลายโครงการ เช่น การต่อขยายทางคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนี “ปิ่นเกล้า-นครชัยศรี” ระยะทาง 30 กม., โครงการทางยกระดับ บนทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2) จากทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน กิโลเมตรที่ 9+731 ไปบรรจบกับทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) บริเวณทางแยกต่างระดับวังมะนาว ซึ่งช่วงแรกจะก่อสร้างถึงมหาชัยก่อน และโครงการทางยกระดับต่อขยาย จากรังสิต-บางปะอิน ระยะทางประมาณ 17 กม. ซึ่งปัจจุบันถนนด้านล่างมีการใช้งาน และมีปริมาณจราจรสูงกว่า 100,000 คัน/วัน
ดังนั้น ในระหว่างการก่อสร้างต้องมีแผนด้านความปลอดภัยอย่างดี และเพื่อเป็นการรองรับการก่อสร้างงานโครงสร้างยกระดับขนาดใหญ่ หรือทางยกระดับที่มีการประกอบชิ้นส่วนดังกล่าว กรมทางหลวงจึงปรับข้อกำหนดเกณฑ์การประมูลงานใหม่ ซึ่งจะเริ่มในปีงบประมาณ 2562 โดยในส่วนผู้รับเหมาชั้นพิเศษ ซึ่งมีขึ้นทะเบียน 59 บริษัทนั้น ปัจจุบันกำหนดให้สามารถเข้าร่วมประมูลในโครงการที่มีมูลค่า 600-1,200 ล้านบาทนั้น หากโครงการมีมูลค่าเกิน 1,200 ล้านบาทและมีโครงสร้างยกระดับขนาดใหญ่ ผู้รับเหมาชั้นพิเศษจะต้องมีประสบการณ์ในการก่อสร้างทางยกระดับ และมีเครื่องมือ เครื่องจักร เช่น "Launching truss" และต้องเข้าคัดเลือกผู้ดำเนินการก่อสร้าง (PQ : PRE - QUALIFY) ก่อน ซึ่งประเมินว่าจะเหลือผู้รับเหมาที่เข้าร่วมได้กว่า 10 บริษัท
“ขณะนี้กรมฯ ได้ให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยศึกษาสเปกที่เหมาะสม เพื่อเป็นเกณฑ์ทั้งมาตรฐานความปลอดภัยและคุณภาพของงานก่อนจะประกาศใช้ต่อไป ซึ่งกรณี Launching truss นั้นผู้รับเหมาแต่ละรายจะลงทุนเอง โดยประกอบจากเหล็ก ซึ่งจะคำนวณตามความต้องการใช้งาน เช่น ขีดการรองรับน้ำหนัก ช่วงระยะความยาว ดังนั้นแต่ละชุดจึงมีระบบการ Operate ที่ไม่เหมือนกัน การปฏิบัติในไซต์ก่อสร้างจะต้องไม่เหมือนกัน และราคามีตั้งแต่ 60-100 ล้านบาท โดยในแต่ละงานกรมฯ จะต้องตรวจสอบเครื่องจักรของผู้รับเหมาด้วยว่ามีคุณภาพตรงกับเนื้องานที่ต้องก่อสร้างหรือไม่”
อย่างไรก็ตาม เพื่อตระหนักในเรื่องความปลอดภัย กรมฯ ได้จัดสัมมนา อบรมให้ความรู้แก่วิศวกร เจ้าหน้าที่ของกรมฯ รวมถึงบริษัทที่ปรึกษา ผู้รับจ้าง ประมาณ 150 คน โดยวิทยากรที่มีความรู้ มีประสบการณ์ให้ความรู้ เพื่อให้นำไปปฏิบัติอย่างถูกต้อง และมีแผนงานการก่อสร้างที่ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ
โดยปัจจุบันเทคโนโลยีการก่อสร้างสะพานในโครงการก่อสร้างของกรมฯ ได้นำระบบประกอบชิ้นส่วนคอนกรีตสำเร็จรูป (Precast Concrete Bridge Construction) มาใช้ ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มความรวดเร็วในการก่อสร้างได้ โดยในการทำงานจะเกี่ยวข้องทั้งการออกแบบ การผลิต การขนส่งและติดตั้งชิ้นส่วนของสะพานที่มีขนาดใหญ่และน้ำหนักมาก ต้องใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่และวิธีการพิเศษกว่าสะพานปกติ จึงต้องมีผู้รับผิดชอบโครงการ วิศวกรโครงการ ผู้ควบคุมงาน ซึ่งต้องเข้าใจมาตรฐานความปลอดภัยและมีแนวทางปฏิบัติที่ทำให้การก่อสร้างเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและปลอดภัย