xs
xsm
sm
md
lg

BCPG เน้นลงทุนโรงไฟฟ้าชีวมวล-ชูเทคโนโลยี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


บีซีพีจีวางเป้าหมายการโตนับจากนี้เน้นลงทุนโรงไฟฟ้าชีวมวลในประเทศ และนำร่องเทคโนโลยีพัฒนาระบบ Trading Platform เพื่อรองรับการซื้อขายไฟฟ้าภายใต้โครงข่ายเดียวกันผ่านอินเทอร์เน็ต คาดเห็นอย่างน้อย 1 แห่งในปีนี้

นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) (BCPG) เปิดเผยว่า แนวโน้มการขยายธุรกิจของบริษัทนับจากนี้จะเน้นไปในโรงไฟฟ้าชีวมวลในประเทศ เพื่อต้องการกระจายรายได้ให้เกษตรกรและกลุ่มสหกรณ์ที่เป็นพันธมิตร รวมทั้งนำเทคโนโลยีมาพัฒนาทำระบบ Trading Platform เพื่อรองรับการซื้อขายไฟฟ้าภายใต้โครงข่ายเดียวกันได้โดยตรงโดยไม่ต้องพึ่งระบบส่งของรัฐผ่านอินเทอร์เน็ต คาดว่าจะเกิดขึ้นได้อย่างน้อย 1 แห่งในปีนี้ นับเป็นการนำนวัตกรรมมาใช้ช่วยสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้นกว่าการใช้เงินจำนวนมากในการซื้อกิจการเพื่อมุ่งเพิ่มจำนวนเมกะวัตต์แต่ได้ผลตอบแทนต่ำ

เนื่องจากปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 577 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นกำลังการผลิตเทียบเท่าโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 1 พันเมะวัตต์ ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายเดิมที่วางไว้ในปี 2563 ทำให้บริษัทต้องวางเป้าหมายการเติบโตทางธุรกิจใหม่

นายบัณฑิตกล่าวว่า บริษัทจะให้ความสำคัญนำเทคโนโลยีมาใช้ในอุตสาหกรรมไฟฟ้า โดยบริษัทจะทำหน้าที่เป็น Trading Platform ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการหารือกับพันธมิตรเพื่อพัฒนารูปแบบTrading Platform ซึ่งต่างประเทศได้มีการทำแล้ว เบื้องต้นจะเน้นทำในพื้นที่ชุมชนเดียวกันและมีการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป เป็นต้น นับเป็นการช่วยลดภาระของรัฐบาลในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่แห่งใหม่

“เราก็เหมือนอาลีบาบา แจ็ค หม่า ได้อะไร ผมก็ได้แบบแจ็ค หม่า เราก็สร้าง internet platform ต้องจับมือกับคนที่เป็นพัฒนาด้านนี้ ยกตัวอย่าง บ้านติดกัน 3 บ้าน หลังคาติดตั้งรูฟท็อป ถ้ามีไฟเหลือก็มาโพสต์ขายบนอินเทอร์เน็ตบน Trading Platform เสนอขายราคาเท่าไร ถ้ามีคนตกลงซื้อก็เลือกซื้อขายหักบัญชีกันได้เลย”

อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่ได้ปิดกั้นการเข้าซื้อโรงไฟฟ้าเพิ่มเติมแต่ต้องเป็นโครงการที่ให้ผลตอบแทนที่ดี

นายบัณฑิตกล่าวถึงความคืบหน้าการซื้อหุ้นในบริษัท สตาร์ เอ็นเตอร์นี่กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพในอินโดนีเซีย คิดเป็นกำลังผลิต 182 เมกะวัตต์ บริษัทจะเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่ออนุมัติการเข้าซื้อหุ้นในเดือน มิ.ย.นี้ หลังจากโครงการดังกล่าวมีแผนขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานใต้พิภพเฟส 3 และเฟส 4 เพิ่มรวม 120 เมกะวัตต์ โดยแหล่งเงินทุนจะมาจากกระแสเงินสดจากโครงการเอง คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี จะจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2563

นอกจากนี้ บริษัทยังมองโอกาสที่จะลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานใต้พิภพในอินโดนีเซียเพิ่มอีก ทั้งการเข้าซื้อกิจการและการลงทุนแบบ Green Field

ส่วนในประเทศไทย บริษัทให้ความสนใจที่จะเข้าร่วมโครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก แบบ SPP Hybrid Firm ที่รัฐบาลจะประกาศรับซื้อในปีนี้รวม 300 เมกะวัตต์ คาดว่าจะยื่นข้อเสนอราว 2-3 โครงการ กำลังผลิตโครงการละ 30 เมกะวัตต์ และพร้อมที่จะเข้าร่วมทำโครงการโซลาร์ฟาร์มสำหรับหน่วยราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร ระยะที่ 2 ที่รัฐบาลจะรับซื้อไม่เกิน 219 เมกะวัตต์ โดยจะจับมือกับองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเข้ายื่นเสนอ 10 โครงการ รวม 50 เมกะวัตต์ และจะร่วมกับสหกรณ์ภาคการเกษตรอีก 30 โครงการ รวม 150 เมกะวัตต์ คาดหวังว่าจะได้รับการคัดเลือก 10% ที่ยื่นเสนอไป

สำหรับผลการดำเนินงานในปีนี้ บริษัทคาดว่าจะมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่ายภาษีและค่าเสื่อม (EBITDA) โตขึ้นราว 25-30% จากปีก่อน เนื่องจากรับรู้รายได้จากการซื้อหุ้นโรงไฟฟ้าพลังงานลมในฟิลิปปินส์ และกำลังจะเข้าซื้อหุ้นในโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ 3 แห่งในอินโดนีเซีย

“วันนี้เรามีกำลังการผลิตไฟฟ้าถึง 600 เมกะวัตต์ หรือประมาณ 1 พันเมกะวัตต์เทียบเท่าโซลาร์ ซึ่งเร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้เดิมในปี 2563 ดังนั้นนับจากนี้บริษัทจะเติบโตในธุรกิจไฟฟ้าแบบไหน จะเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานใต้พิภพในอินโดฯ หรือฟิลิปปินส์ หรือไบโอแมสในไทย ซึ่งถ้าถามผม ผมอยากทำไบโอแมสในไทยเพราะเป็นการกระจายรายได้ให้เกษตรกร แม้ว่าไทยจะมีวัตถุดิบมากแต่ไม่มีระบบจัดการที่ดี ทำให้ราคาไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง”
กำลังโหลดความคิดเห็น