ครม.เห็นชอบ พ.ร.ก.เดินเรือ และ พ.ร.ก.เรือไทย ฉบับปรับปรุง รื้อกฎระเบียบที่ล้าสมัย อัปเกรดมาตรฐานกองเรือไทยรองรับการประเมินของอียูใน ก.ค.นี้ เพื่อแก้ปัญหา IUU เรือประมงผิดกฎหมายแบบยั่งยืน
นายจิรุตม์ วิศาลจิตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคมในฐานะโฆษกกระทรวงฯ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (23 พ.ค.) มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกำหนดการเดินเรือ พ.ศ... และร่างพระราชกำหนดเรือไทย พ.ศ... และอนุมัติให้ถอนร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเรือไทย พุทธศักราช 2481 พ.ศ. .... และร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พุทธศักราช 2456 พ.ศ. .... ซึ่ง ครม.เคยมีมติไว้เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2560 และอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
เนื่องจากการแก้ไข พ.ร.ก.ทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวยังมีจุดที่ต้องแก้ไขปรับปรุงให้ทันสมัย มีความเป็นสากล มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งการปรับปรุงเนื้อหาสาระและกฎหมายการกำกับดูแล การจดทะเบียน การตรวจสภาพเรือ การดูแลความปลอดภัยตัวเรือ อุปกรณ์ส่วนควบ การจดจำนองต่างๆ การพัฒนาคนประจำเรือ จึงต้องเสนอ ครม.ใหม่
โดยการปรับปรุงกฎหมายการเดินเรือและกฎหมายเรือไทย และปรับปรุงโครงสร้างกฎหมายเรือไทยทั้งระบบเพื่อรองรับการตรวจประเมินขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) และสอดคล้องกับข้อกำหนดของ IMO และเพื่อจัดให้มีมาตรการในการป้องกัน IUU Fishing ซึ่งทำให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ และเพื่อเตรียมความพร้อมกับการประเมินของสหภาพยุโรป (อียู) ในเดือน ก.ค. 2560 โดยนำร่าง พ.ร.ก.ทั้ง 2 ฉบับมารวมกับมาตรการในคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 10/2558 และฉบับที่ 53/2559 เรื่องการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม และแก้ไขเพิ่มเติมให้มีความครบถ้วนเป็นระบบมากยิ่งขึ้น และขออนุมัติให้ถอนร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเรือไทย พุทธศักราช 2481 พ.ศ. .... และร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พุทธศักราช 2456 พ.ศ. ....
นางจิราภรณ์ จันทรศิริ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านมาตรฐานการขนส่งทางน้ำ กล่าวว่า แม้ว่าขั้นตอนจากนี้กฤษฎีกาอาจยังพิจารณาไม่ทันและ พ.ร.ก.ยังไม่มีผลบังคับใช้ทันเดือน ก.ค.ที่อียูจะมาประเมิน แต่เป็นการแสดงให้เห็นความตั้งใจในการแก้ปัญหาและจะไม่มีผลกระทบใดๆ เพราะขณะนี้การปฏิบัติของกรมเจ้าท่าได้ใช้กฎหมายพิเศษ ซึ่งใส่อยู่ใน พ.ร.ก.ซึ่งเป็นกฎหมายปกติอยู่แล้ว
โดยปัจจุบันมีเรือประมง มีใบอนุญาตทำการประมง จำนวน 11,000 ลำ มีการตรวจสอบจำนวน และขนาดตรงกับที่จดทะเบียน การตอกอัตลักษณ์เรือลงไปจะไม่มีการเวียนเทียน ส่วนเรือที่เหลือมีทะเบียนแต่ยังไม่มีใบอนุญาตทำการประมง กรมฯ ได้ทำการล็อกไม่ให้ออกไปทำประมงทั้งในและนอกน่านน้ำ เป็นการป้องกันไม่ใช่แก้ไข
สำหรับร่างพระราชกำหนดการเดินเรือ พ.ศ. .... และร่างพระราชกำหนดเรือไทย พ.ศ. .... มีสาระสำคัญสรุปดังนี้
1. ร่างพระราชกำหนดเรือไทย พ.ศ. ....
1.1 หมวด 1 เรือไทยและการจดทะเบียนเรือไทย มีสาระสำคัญเกี่ยวกับความหมายของเรือไทยในการจดทะเบียนเรือไทย
1.2 หมวด 2 หนังสือทะเบียนเรือไทย เมืองท่าจดทะเบียนและนายทะเบียน มีสาระสำคัญเกี่ยวกับรูปแบบของรายการหนังสือทะเบียนเรือ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศกำหนดเมืองท่าที่รับจดทะเบียน และการแต่งตั้งนายทะเบียน
1.3 หมวด 3 การตรวจสอบเรือไทย มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการตรวจสภาพเรือที่ใช้เดินเรือระหว่างประเทศ การตรวจสภาพเรือที่ใช้เดินเรือในน่านน้ำไทยเป็นการเฉพาะและมาตรการอุปกรณ์ประจำเรือ
1.4 หมวด 4 การจัดการความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัยของเรือไทย มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการจัดการความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัยของเรือไทย
1.5 หมวด 5 การโอนกรรมสิทธิ์เรือไทยที่ได้จดทะเบียนแล้ว มีสาระสำคัญเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ในการโอนกรรมสิทธิ์เรือไทยที่ได้จดทะเบียนแล้ว
1.6 หมวด 6 การจดทะเบียนจำนองและบุริมสิทธิเหนือเรือไทย มีสาระสำคัญเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ในการจดทะเบียนจำนองและบุริมสิทธิเหนือเรือไทย
1.7 หมวด 7 การจำนองเรือที่อยู่ระหว่างการต่อ มีสาระสำคัญเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ในการจำนองเรือที่อยู่ระหว่างการต่อ
1.8 หมวด 8 การเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของรายการต่างๆ เกี่ยวกับเรือไทย มีสาระสำคัญเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ในการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของรายการต่างๆ เกี่ยวกับเรือไทย
1.9 หมวด 9 สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดของเรือไทย มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการกำหนดสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของเรือไทย โดยเฉพาะสิทธิทำการค้าในน่านน้ำไทย
1.10 หมวด 10 คนประจำเรือและการจัดคนเข้าทำการในเรือไทย มีสาระสำคัญเกี่ยวกับเอกสารเกี่ยวกับคนประจำเรือ หน้าที่ของผู้ควบคุมเรือ การจัดคนเข้าทำการในเรือ และความผิดของผู้ควบคุมและคนประจำเรือ
1.11 หมวด 11 อู่ลอย มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการตรวจและจดทะเบียนอู่ลอย
1.12 หมวด 12 อำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงาน มีสาระสำคัญเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานโดยเฉพาะอำนาจในการตรวจสอบเรือ
1.13 หมวด 13 เบ็ดเตล็ด
1.14 หมวด 14 บทลงโทษ
2. ร่างพระราชกำหนดการเดินเรือ พ.ศ. ....
2.1 หมวด 1 การเดินเรือ การจอดเรือ เขตทางน้ำ สิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำทางน้ำ และการใช้ทางน้ำ มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการเดินเรือและการจอดเรือในน่านน้ำไทยหรือน่านน้ำที่อยู่ภายใต้สิทธิอธิปไตยของประเทศไทย เขตทางน้ำและทางเรือเดิน สิ่งล่วงล้ำทางน้ำ การใช้ทางน้ำ การกลับลำเรือ การเข้าจอดเทียบท่า และการออกจากเขตท่า การจอดเรือ การทอดสมอใกล้เคียงหรือเกาสมอข้าม สาย ท่อ หรือสิ่งก่อสร้างที่ทอดใต้น้ำ
2.2 หมวด 2 การนำร่อง มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการนำร่องเรือเข้าเทียบท่าและออกจากท่าเรือในเขตนำร่องต่างๆ
2.3 หมวด 3 การลากจูงเรือ สาระสำคัญเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ในการลากจูงเรือ
2.4 หมวด 4 ความปลอดภัยของเรือและท่าเรือ มีสาระสำคัญเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ความปลอดภัยของตัวเรือ บัญชีและหนังสือคนประจำเรือ การรักษาความปลอดภัยของท่าเรือ การขนส่งและจัดหีบห่อสินค้าอันตราย การขนส่งสินค้าที่มิใช่สินค้าอันตราย
2.5 หมวด 5 การสืบสวนสอบสวนอุบัติเหตุทางน้ำและการช่วยเหลือกู้ภัยทางทะเล มีสาระสำคัญเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การรายงานอุบัติเหตุทางน้ำและการสืบสวนเบื้องต้น การสอบสวนอุบัติเหตุทางน้ำ การค้นหาและการช่วยเหลือทางน้ำ
2.6 หมวด 6 การป้องกันโรคติดต่อ มีสาระสำคัญเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การควบคุมการเดินเรือ การจอดเรือ และการเคลื่อนย้ายเรือที่มีโรคติดต่ออันตราย
2.7 หมวด 7 การคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางน้ำ มีสาระสำคัญเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางน้ำตามมาตรฐานสากลตามอนุสัญญาระหว่างประเทศขององค์กรทางทะเลระหว่างประเทศ มาตราที่สำคัญคือ มาตรา 154 และ 155
2.8 หมวด 8 ซากทรัพย์สิน มีสาระสำคัญเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การจัดการซากทรัพย์สินที่พบในน่านน้ำไทย
2.9 หมวด 9 การประกอบการขนส่งคนโดยสารทางน้ำประจำเส้นทาง มีสาระสำคัญเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การประกอบการขนส่งคนโดยสารทางน้ำประจำเส้นทางและคณะกรรมการขนส่งคนโดยสารทางน้ำประจำเส้นทาง
2.10 หมวด 10 บทเบ็ดเตล็ด
2.11 หมวด 11 บทกำหนดโทษ