xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.สผ.เร่งเคลียร์ พท.ส.ป.ก.แหล่ง S1 หวังเจาะหลุมผลิตเพิ่มรักษาเป้าการขายปีนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายวัน 360 - ปตท.สผ.เร่งเคลียร์พื้นที่ ส.ป.ก.ในแหล่งสิริกิติ์ หวังเจาะหลุมผลิตน้ำมันเพิ่มและเร่งเบ่งกำลังผลิตแหล่งซอติก้าและยาดานาเพื่อขายก๊าซฯ เพิ่มขึ้นในพม่า หวังรักษาปริมาณการผลิตปิโตรเลียมปีนี้ที่ 3.0-3.1 แสนบาร์เรล/วัน

นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างขอความชัดเจนในการเข้าไปใช้พื้นที่ ส.ป.ก.ในแหล่งน้ำมันสิริกิติ์ (S1) เพื่อสำรวจและเจาะหลุมผลิตปิโตรเลียมเพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้ทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ประสานกับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เนื่องจากบางพื้นที่ในแหล่งสิริกิติ์อยู่ใน ส.ป.ก. และประเมินว่าพื้นที่ดังกล่าวจะมีปริมาณสำรองน้ำมันอยู่ โดยปัจจุบันบริษัทมีการนำเทคโนโลยีเพื่อนำน้ำมันดิบขึ้นมาจากหลุมผลิตที่แหล่งสิริกิติ์ ทำให้ปัจจุบันแหล่งดังกล่าวมีกำลังผลิตน้ำมันดิบอยู่ที่ 2.7 หมื่นบาร์เรลเทียบ/วัน

รวมทั้งยังเน้นผลิตหลุมก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่มีปริมาณคอนเดนเสทมาก เพื่อต้องการผลิตคอนเดนเสทมากขึ้น และกลับมาศึกษาที่จะพัฒนาแหล่งนางนวลอีกครั้ง หลังจากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น คาดว่าจะมีความชัดเจนในปี 2561

นอกจากนี้ บริษัทจะผลิตก๊าซฯ เพิ่มขึ้นในแหล่งซอติก้าและแหล่งยาดานาในพม่า เพื่อป้อนขายก๊าซฯ ในประเทศพม่าที่ปัจจุบันมีความต้องการใช้ก๊าซในการผลิตไฟฟ้า ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับรัฐบาลพม่า โดยบริษัทมีสัญญาที่จะขายก๊าซฯ ได้เพิ่มขึ้นรองรับอยู่แล้ว

โครงการดังกล่าวจะช่วยทดแทนปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ลดลงจากผลกระทบจากราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ตลาดจรต่ำ ปตท.ในฐานะผู้รับซื้อจึงเรียกรับก๊าซฯ ในอัตราที่ต่ำตามสัญญา ทำให้ ปตท.สผ.รักษาเป้าหมายการจำหน่ายปิโตรเลียมในปีนี้ที่ 3.0-3.1 แสนบาร์เรล/วัน ต่ำกว่าปีก่อนเล็กน้อย

นายสมพรกล่าวถึงความคืบหน้าโครงการ Cash Maple ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในออสเตรเลียว่า แหล่งดังกล่าวมีปริมาณสำรอง 3-4 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต (TCF) บริษัทได้เคยศึกษาการพัฒนาในรูปแบบเรือผลิตก๊าซฯ (FLNG) ซึ่งช่วงนั้นมีต้นทุนที่สูง แต่ปัจจุบันเทคโนโลยี FLNG เริ่มเอื้ออำนวยที่จะกลับเข้าไปศึกษาและพัฒนาโครงการอีกครั้ง โดยบริษัทได้มีการหารือกับบริษัทน้ำมันในพื้นที่ที่มีสาธารณูปโภคพื้นฐานทั้งท่อก๊าซและโรงแอลเอ็นจี ที่อาจจะทำให้ผลิตป้อนให้บริษัทเหล่านั้นได้ ก็จะสามารถทำให้มีการประหยัดต่อขนาด (economy of scale) ทั้งนี้ยังเร็วไปที่จะสรุปได้ว่าจะสามารถพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้เมื่อไหร่

สำหรับโครงการที่อยู่ระหว่างการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (Final Investment Decision : FID) นั้นปัจจุบันมีอยู่ 2-3 โครงการ ได้แก่ โครงการโมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์ แอเรีย วัน ซึ่ง ปตท.สผ.ถือหุ้น 8.5% คาดว่าน่าจะตัดสินใจ FID ได้ภายในปีนี้

ส่วนอีก 2 โครงการคาดว่าจะ  FID ภายใน 2 ปีนี้ คือ แหล่งอุบลในโครงการคอนแทร็ค 4 ซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันที่บริษัทถือหุ้นอยู่ 60% และโครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ มีสัดส่วนถือหุ้น 24.5%
กำลังโหลดความคิดเห็น