“กรมทางหลวง” เผยออกแบบถนนคอนกรีตแบบไร้รอยต่อ อีก 4 สาย ในพื้นที่ EEC “ธานินทร์” เผยคุณภาพสูง ประหยัดงบซ่อมบำรุง อายุใช้งานนาน เหมาะกับสายทางที่มีรถบรรทุกหนักใช้งานมาก ส่วนถนนคอนกรีตแบบไร้รอยต่อสายแรก เส้น ทล.331 “แยก บ.เนินผาสุข-มาบเอียง” เสร็จใน พ.ย. 60
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 331 สายแยกทางหลวงหมายเลข 7 (บ.เนินผาสุข)-บรรจบทางหลวงหมายเลข 331 (มาบเอียง) ตอน 1 ว่า โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนการคมนาคมขนส่งและระบบลอจิสติกส์ รองรับการพัฒนาเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) โดยปัจจุบันมีความคืบหน้า 85% คาดว่าจะแล้วเสร็จสามารถเปิดใช้งานได้ปลายปี 2560
นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า กรมทางหลวงได้รับงบประมาณ ก่อสร้าง 1,077,590,980.00 บาท เพื่อบูรณะทางหลวงหมายเลข 331 สายแยกทางหลวงหมายเลข 7 (บ.เนินผาสุข)-บรรจบทางหลวงหมายเลข 331 (มาบเอียง) ที่เดิมสภาพผิวหน้าแตกมีการทรุดตัว ไม่เรียบตลอดเส้นทาง เวลาฝนตกถนนลื่นเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ประกอบกับเป็นเส้นทางนี้มีรถบรรทุกขนาดใหญ่ใช้เป็นจำนวนมาก
โดยได้ก่อสร้างเป็นมาตรฐานทางชั้นพิเศษ 6 ช่องจราจร, 8 ช่องจราจร และ 10 ช่องจราจร ไป-กลับ ความกว้างช่องจราจร 3.50 เมตร ไหล่ทางด้านนอกกว้าง 2.50 เมตร เกาะกลางแบบยก (Raised Median) และ Concrete Barrier Type II ผิวทางเป็นแบบคอนกรีตเสริมเหล็กแบบไร้รอยต่อ โดยทำการรื้อชั้นโครงสร้างเดิมที่ชำรุดเสียหายออก แล้วทำการก่อสร้างชั้นโครงสร้างทางใหม่
นายธานินทร์กล่าวว่า ในการก่อสร้างถนนสายดังกล่าว กรมทางหลวงได้ก่อสร้างปรับปรุงผิวทางเดิมจากถนนแอสฟัลต์คอนกรีต เป็นถนนคอนกรีตแบบไร้รอยต่อ(Continuously Reinforced Concrete Pavement:CRCP) โดยพบว่าผิวทางมีความเรียบสูงกว่าถนนคอนกรีตทั่วไป ซึ่งถนนคอนกรีตแบบไร้รอยต่อ หรือ CRCP คือถนนคอนกรีตที่ก่อสร้างโดยไม่มีรอยต่อตามขวางเลย เพราะจะถูกป้องกันโดยเหล็กซึ่งในแง่ของค่าก่อสร้สงจะสูงกว่าถนนคอนกรีตทั่วไปประมาณ 20% แต่ประหยัดค่าบำรุงรักษาได้มากกว่า อีกทั้งอายุการใช้งานของถนนจะนานมาก จากปกติทั่วไปที่ถนน พอ 7 ปีจะมีการซ่อมบำรุงใหญ่ แต่ถนนคอนกรีตแบบไร้รอยต่อใช้ไป 20 ปีแทบไม่มีปัญหา”
โดยกรมทางหลวงจะนำข้อดีข้อเสียของการก่อสร้างถนนคอนกรีตชนิดไร้รอยต่อดังกล่าวไปพิจารณาปรับปรุงการก่อสร้างผิวทางคอนกรีตทั่วประเทศต่อไป โดยขณะนี้ได้ออกแบบในเส้นทางภาคตะวันออก ที่มีรถบรรทุกหนักใช้งานมากและรองรับ EEC ได้แก่ ทางหลวงหมายเลข 36 (กระทิงลาย-ระยอง) ตอนต่างระดับเขาไม้แก้ว-แยกมาบข่า 6 ช่องจราจร, ทางหลวงหมายเลข 36 (กระทิงลาย-ระยอง) ตอนแยกมาบข่า-แยกเชิงเนิน 6 ช่องจราจร, ทางหลวงหมายเลข 36 (กระทิงลาย-แยกต่างระดับโป่ง) 6 ช่องจราจร, ทางหลวงหมายเลข 331 (ช่วงอมตะซิตี้และแยกปากร่วม) และทางหลวงหมายเลข 315 (อำเภอพนัสนิคม-ฉะเชิงเทรา) 4 ช่องจรจร คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในงบประมาณปี 2561
อย่างไรก็ตาม นายอาคมได้ให้นโยบายในการพิจารณาใช้รูปแบบถนนคอนกรีตชนิดไร้รอยต่อกับเส้นทางใดนั้นให้ประเมินความเหมาะสมเปรียบเทียบค่าก่อสร้าง การซ่อมบำรุง และนโยบายในการสนับสนุนการใช้ยางพาราในประเทศด้วย เพราะจะใช้ยางพาราน้อยลงแต่จะมีการใช้เหล็กในประเทศที่สูงขึ้น
สำหรับโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 331 สายแยกทางหลวงหมายเลข 7 (บ.เนินผาสุข)-บรรจบทางหลวงหมายเลข 331 (มาบเอียง) เป็นเส้นที่เชื่อมระหว่างทางหลวงหมายเลข 331 เดิม (สายสัตหีบ-พนมสารคาม) ซึ่งเป็นเส้นทางจากภาคตะวันออกไปสู่ภาคอีสาน ที่ กม.49 แยกไปสู่ท่าเทียบเรือแหลมฉบัง ผ่านทางหลวงหมายเลข 7 (มอเตอร์เวย์สาย กรุงเทพฯ-พัทยา) ที่ กม.100 ระยะทางประมาณ 15.610 กิโลเมตร กำหนดแล้วเสร็จวันที่ 26 พ.ย. 2560
โดยเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าจากท่าเรือแหลมฉบังไปสู่ภูมิภาคต่างๆ โดยผ่านทางหลวงหมายเลข 7 และทางหลวงหมายเลข 331 เดิม ซึ่งโครงการฯ นี้ยังตัดผ่านนิคมอุตสาหกรรมจำนวน 4 แห่ง และลานกองตู้คอนเทนเนอร์จำนวนมากทำให้เส้นทางนี้มีรถบรรทุกใช้เส้นทางสายนี้จำนวนมาก