จับตา บขส.ส่อล็อกสเปก จ้างวิธีพิเศษ E-Ticket ระบบขายตั๋วทั่วประเทศ ด้านคู่สัญญาเดิมร้องไม่เป็นธรรม ระบุเงื่อนไขสัญญาให้เจรจาต่อสัญญาครั้งละ 5 ปี ทำหนังสือถึง บขส.แต่กลับเงียบฉี่ แถมมีการบิดเบือนข้อมูล ข้อดี-ข้อเสียเปรียบเทียบ ชงบอร์ดวันนี้ ส่อพฤติกรรมเอื้อประโยชน์เอกชนบางราย
รายงานข่าวจากบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) แจ้งว่า ในวันนี้ (18 พ.ค.) คณะกรรมการ (บอร์ด) บขส. ที่มีนายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล เป็นประธาน จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาโครงการสำรองที่นั่งและจำหน่ายตั๋วโดยสารด้วยระบบคอมพิวเตอร์ (ระบบ E-Ticket) ซึ่งจะหมดสัญญากับผู้ให้บริการเดิมคือ บริษัท แอดวานซ์ เทคโนโลยี ซีสเต็มส์ จำกัด หรือ ATS ในเดือน ก.ย. 2560 โดยการศึกษาของคณะทำงานสรุปว่าจะใช้วิธีพิเศษ ในการว่าจ้างบริษัท AIT เป็นผู้รับจ้างรายใหม่ เนื่องจาก AIT เป็นผู้พัฒนาระบบตั้งแต่ต้น
ด้านนายนิติธร สมจันทร์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท แอดวานซ์ เทคโนโลยี ซีสเต็มส์ จำกัด หรือ ATS ระบุว่า บริษัท ATS ได้ทำสัญญากับ บขส. เป็นผู้รับจ้างจัดทำระบบ E-Ticket ตั้งแต่วันที่ 14 ก.ย. 2550-13 ก.ย. 2560 ลักษณะสัญญา BTO อายุสัญญา 10 ปี และเมื่อครบสัญญาแล้วหากประสงค์ขอต่อสัญญาจะพิจารณาต่อสัญญาครั้งละ 5 ปี ไม่เกิน 2 ครั้ง โดยการต่อสัญญาเป็นสิทธิของ บขส.ในการพิจารณา ซึ่งในส่วนของบริษัทฯ ได้ทำหนังสือถึง บขส. 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2559 และเมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2560 เพื่อขอให้พิจารณาต่อสัญญาตามเงื่อนไขข้อ 3 เนื่องจากบริษัทมีความพร้อมในทุกด้าน แต่ไม่ได้รับคำตอบใดๆ จาก บขส. ซึ่งบริษัทฯ ไม่ได้รับความเป็นธรรมจาก บขส.ตามเจตนาในสัญญาที่ลงนามกันไว้
โดย บขส.กลับเลือกใช้วิธีพิเศษ และยังมีการบิดเบือนข้อมูลหลายเรื่อง ซึ่ง AIT เป็นผู้พัฒนาระบบจริง โดยบริษัทได้ซื้อระบบจาก AIT มาดำเนินการ E-Ticket มีสัญญาซื้อระบบรับประกัน 1 ปี หลังจากนั้นบริษัทฯ เป็นผู้ดูแลระบบเอง และตลอด 10 ปีที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาระบบขึ้นมาเรื่อยๆ เพื่อให้การบริการมีความทันสมัย อย่างไรก็ตาม การที่ บขส.จะจ้างบริษัทใหม่เข้ามาด้วยวิธีพิเศษถูกต้องหรือไม่ มีการดำเนินการตามระเบียบหรือไม่ เป็นการเอื้อประโยชน์บางรายและกีดกันบางรายหรือไม่ ซึ่งอาจเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.ฮั้วหรือไม่
ทั้งนี้ บริษัท ATS ได้ลงทุนประมาณ 120 ล้านบาท ในการจัดซื้อฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ วางระบบโครงข่ายทั้งหมด โดยมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ค่าบำรุงรักษาระบบ ค่าพิมพ์ตั๋ว อีกประมาณเดือนละ 1.5 ล้านบาท ขณะที่มีรายได้ประมาณ 8 แสนบาทจาก บขส. ที่ขายตั๋วผ่านหน้าเคาน์เตอร์สถานีขนส่ง ใบละ 2 บาท ส่วนการขายตั๋วออนไลน์ผ่านเคาน์เตอร์เซเว่นอีเลฟเว่นจะเรียกเก็บจากผู้โดยสารใบละ 18 บาท ซึ่ง บขส.แบ่งไป 2 บาท บริษัทได้ 16 บาท ซึ่งถือเป็นค่าใช้จ่ายเชื่อมระบบและการดูแลรักษา ขณะที่มีการจำหน่ายผ่านตัวแทนอย่างไทยทิคเก็ต ซึ่งไม่ได้ลงทุนระบบใดๆ บขส.กลับจ่ายส่วนแบ่งให้ 5% ต่อใบหรือประมาณ 30 บาท ซึ่งเป็นรายจ่ายของ บขส.
ด้านนายนพรัตน์ การุณยะวนิช รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ รักษาการ CEO บขส.กล่าวว่า นโยบายของบอร์ดต้องการให้ บขส.มีระบบไอทีที่ทันสมัย อีกทั้งสถานีขนส่ง 2 แห่งยังไม่มีความชัดเจนเรื่องพื้นที่รวมถึงมีการจัดระเบียบรถตู่โดยสารร่วมด้วย จึงมีการศึกษาระบบในภาพรวม ซึ่งปัจจุบันมีผู้ดูแล 2 ส่วน โดยระบบหลักทั้งหมด มี AIT ดูแล ส่วนระบบ E-Ticket มีบริษัท ATS ดูแล ซึ่งสัญญาในส่วนของ E-Ticket จะหมดในอีก 4 เดือน ซึ่งจะมีการรายงานผลศึกษาต่อบอร์ดในวันนี้ อย่างไรก็ตาม บขส.อยู่ระหว่างสรรหา CEO ซึ่งคาดว่าจะเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 1 มิ.ย. 60 ดังนั้นเรื่องนี้น่าจะรอ CEO คนใหม่เข้ามาร่วมพิจารณาด้วย
ทั้งนี้ เมื่อเดือน ม.ค. 2560 บอร์ด บขส.ได้ตั้งคณะทำงานมีนายวันชัย ผโลทัยเถกิง กรรมการ บขส. เป็นประธานคณะทำงานพิจารณา ระบบ E-Ticket ที่จะหมดสัญญาในเดือน ก.ย. 2560 โดยได้ประเมิน 4 แนวทาง คือ 1. ต่อสัญญากับบริษัท ATS 2. บขส.ดำเนินการระบบเอง โดยประกาศเชิญชวนผู้รับจ้างเข้ามาศึกษาดำเนินการระบบที่ได้รับโอนจากบริษัท ATS 3. บขส.จัดหาระบบใหม่ทดแทนระบบเดิม โดยลงทุนจ้างออกแบบและพัฒนาระบบด้วยวิธี อี-ออกชัน 4. บขส.ดำเนินการเอง โดยใช้วิธีพิเศษ ว่าจ้างบริษัท AIT ซึ่งเป็นผู้พัฒนาระบบเดิม
โดยคณะทำงานได้เลือกแนวทางที่ 4 เนื่องจากเห็นว่าจะใช้เงินจ้างปรับปรุงระบบและถ่ายโอนข้อมูล 10 ล้านบาท มีค่าตอบแทนจากตัวแทนจำหน่ายตั๋วที่ใช้ระบบปิด 1% จากรายได้การขายตั๋วปีละ 5 ล้านบาท, ลดภาระค่าธรรมเนียม สำรองที่นั่งผ่านช่องทางต่างๆ ซึ่งจะทำให้มีรายได้เพิ่มปีแรก 24 ล้านบาท , ผู้โดยสารไม่ต้องจ่ายสำรองที่นั่งให้บริษัท ATS ใบละ 18 บาท เฉลี่ยปีละ 1.2 ล้านใบ คิดเป็นมูลค่าที่ผู้โดยสารประหยัดต่อปี 21.6 ล้านบาท และเมื่อเป็นระบบของ บขส.จะสามารถต่อรองลดค่าธรรมเนียมการชำระเงินผ่านเซเว่น อีเลฟเว่น จาก 20 บาทต่อใบลงได้ไม่น้อยกว่า 5 บาทต่อใบ
ขณะที่หากเลือกแนวทางที่ 1 ต่อสัญญากับบริษัท ATS ข้อดีคือ ไม่มีความเสี่ยงในบริการที่จะหยุดชะงัก บขส.ไม่ต้องลงทุน และมีรายรับจากส่วนแบ่งสำรองที่นั่ง 2 บาทต่อใบแต่มีข้อเสียที่ผู้ใช้บริการรถ บขส.จะมีภาระค่าธรรมเนียมสำรองที่นั่งที่ 18 บาทต่อใบ และเสียค่าธรรมเนียมชำระเงินผ่านเซเว่น อีเลฟเว่น หรือ ATM, บขส.ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้ ATS ในการสำรองที่นั่งในสถานีขนส่ง บขส. 2 บาทต่อใบ เป็นเงิน 10 ล้านบาทต่อปี, บขส.ต้องจ่ายให้ ATS เป็นค่าบริการระบบ 1.37 ล้านบาทต่อเดือน