xs
xsm
sm
md
lg

“มิตรผล” จ่อตั้งโรงงานกรดแล็กติกที่ขอนแก่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“กลุ่มมิตรผล” จ่อตั้งโรงงานผลิตกรดแล็กติกจากน้ำตาล ป้อนอุตสาหกรรมอาหาร เผยอยู่ระหว่างสำรวจความต้องการของตลาดและรอรัฐสนับสนุนการลงทุนไบโออีโคโนมี แย้มจะเจรจาเป็นผู้ป้อนวัตถุดิบให้โครงการผลิต PLA ในเครือ ปตท.ด้วย

นายกฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มมิตรผล เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีแผนที่จะลงทุนโครงการผลิตกรดแล็กติกที่เป็นการต่อยอดจากน้ำตาล โดยบริษัทได้พัฒนาเชื้อแบคทีเรียได้แล้วและทดลองในโครงการนำร่องพบว่าผลออกมาดี และพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบตลาด

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากนโยบายรัฐในการขับเคลื่อนการลงทุนด้านเศรษฐกิจชีวภาพ หรือไบโออีโคโนมี โดยคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมไบโออีโคโนมีจะเกิดขึ้นในอีก 3-5 ปีข้างหน้า

สำหรับโรงงานผลิตกรดแล็กติก คาดว่าจะตั้งที่จังหวัดขอนแก่นเพื่อต่อยอดโรงงานน้ำตาลเดิมและโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ โดยมีกำลังการผลิตเบื้องต้นอยู่ที่ 1-3 หมื่นตัน/ปี ขึ้นกับความต้องของตลาด

ทั้งนี้ กรดแล็กติกใช้ในธุรกิจอาหารเพื่อเป็นส่วนเสริมเพิ่มรสชาติ และถนอมอาหาร เช่น นมโยเกิร์ต และยังเป็นวัตถุดิบต้นทางสำหรับโครงการผลิตพลาติกชีวภาพชนิดโพลีแล็กติก แอซิด (PLA) ซึ่งเครือพีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ได้มีการเจรจากับกลุ่มเนเชอร์เวิร์กส์ สหรัฐอเมริกา ให้มาตั้งโรงงานผลิต PLA แห่งที่ 2 ในไทย แต่เนื่องจากราคาน้ำมันปรับตัวลงมาอยู่ระดับ 50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ทำให้โครงการผลิต PLA ต้องชะลอการลงทุนไปก่อนเพราะไม่คุ้มการลงทุน

ขณะที่วันนี้ (15 พ.ค) กลุ่มมิตรผล และสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยพัฒนาและต่อยอดเทคโนโลยีการเกษตรตามแนวทางเกษตรยั่งยืน โดยส่งเสริมให้เกิดการนำไปใช้จริง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิดขึ้นกับสินค้าเกษตร สอดคล้องการทำงานแบบบูรณาการตามนโยบายประชารัฐ โดยมี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานในพิธี

ข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้จะร่วมมือในโครงการวิจัย 3 โครงการ คือ โครงการวิจัยการปลูกพืชหลังนาเพื่อเป็นพืชหมุนเวียนและบำรุงรักษาดิน โดยจะศึกษาการปลูกถั่วเหลืองมนพื้นที่ 150 ไร่ และมีเป้าหมายขยายผลให้เป็น 1 พันไร่ เนื่องจากถั่วเหลืองที่ผลิตในประเทศไม่เพียงพอต่อการบริโภคในตลาด โครงการวิจัยการป้องกันศัตรูพืชด้วยสารควบคุมศัตรูพืชที่ได้จากธรรมชาติ ลดการใช้สารเคมีและโครงการปรับปรุงคุณสมบัติของดินโดยปุ๋ยชีวภาพ ภายใต้งบประมาณกว่า 5.4 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น