“พาณิชย์” นัดหารือกรมวิชาการเกษตร ผู้ส่งออกผลไม้ หามาตรการคุมคุณภาพทุเรียน หลังผู้นำเข้าร้องเรียนเจอปัญหาทุเรียนอ่อน และชุบสารสีเหลือง ป้องกันไม่ให้ภาพลักษณ์เสียหาย พร้อมดึงผู้ซื้อ ทั้งห้างและเอกชนเซ็นสัญญาซื้อขายผลไม้กับเกษตรกร 3.8 พันตัน มูลค่า 180 ล้านบาท ส่วนผลการตรวจสอบล้งผลไม้ไม่พบการทำผิด
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สัปดาห์หน้า กระทรวงพาณิชย์จะหารือกับกรมวิชาการเกษตร ผู้ส่งออกผลไม้ เพื่อหามาตรการกำกับดูแลคุณภาพของผลไม้ โดยเฉพาะทุเรียน ที่ขณะนี้มีผู้นำเข้าหลายรายได้ร้องเรียนเข้ามา เช่น ฮ่องกงร้องเรียนปัญหาทุเรียนอ่อน จีนร้องเรียนเรื่องการพบสารสีเหลืองในทุเรียนที่ส่งออก เพื่อจัดระเบียบการควบคุมคุณภาพทุเรียน และเป็นการป้องกันไม่ให้ภาพลักษณ์ของทุเรียนไทยเสียหาย
“ในแต่ละปีไทยส่งออกผลไม้ได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 1.2 ล้านตัน มูลค่า 1.5 หมื่นล้านบาท จึงจำเป็นต้องดูแลและรักษาคุณภาพมาตรฐาน เพื่อไม่ให้ชื่อเสียงผลไม้ไทยเสียหาย”
นางอภิรดีกล่าวว่า สำหรับมาตรการดูแลราคาผลไม้ให้เกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ กระทรวงฯ ได้เตรียมแผนด้านการตลาดรองรับผลผลิตผลไม้เศรษฐกิจที่สำคัญหลายชนิดที่กำลังออกสู่ตลาดให้แก่เกษตรกรแล้ว โดยได้ดึงผู้ซื้อสำคัญทั้งห้างสรรพสินค้า บริษัทเอกชน มาทำสัญญาซื้อขายกับเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรมั่นใจว่าผลผลิตจะมีตลาดรองรับ และได้รับการดูแลด้านราคา ขณะที่ผู้ซื้อจะได้ผลไม้ที่มีคุณภาพและเป็นไปตามมาตรฐาน โดยล่าสุดได้จัดให้มีการลงนามสัญญาซื้อขายรวม 24 ราย เป็นฝ่ายผู้ซื้อ 9 ราย และฝ่ายผู้ขาย 15 ราย โดยเจรจาตกลงซื้อขายทุเรียน เงาะ มังคุด ลองกอง ลำไย ชมพู่ ส้มเขียวหวาน สับปะรด มะม่วงน้ำดอกไม้ ฝรั่ง กล้วยเล็บมือนาง รวมปริมาณ 3,830 ตัน มูลค่า 180 ล้านบาท
“การดำเนินการดังกล่าวเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อและผู้ขาย โดยมีสัญญาที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่มีการกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการผลิต การตลาด การส่งมอบสินค้า การชำระเงิน ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ว่าจะได้รับการดูแลด้านราคาซื้อขาย ลดความผันผวนด้านราคาลง มีตลาดรองรับผลผลิต และมีรายได้ที่แน่นอน ส่วนผู้ซื้อก็มั่นใจว่าได้จะผลไม้ที่ดีมีคุณภาพไปจำหน่ายให้กับผู้บริโภค” นางอภิรดีกล่าว
สำหรับผู้ซื้อ 9 ราย ได้แก่ บริษัท เซ็นทรัลฟู้ด รีเทล จำกัด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) บริษัท บิ๊กซี ซุปเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด(มหาชน) บริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น จำกัด บริษัท ไชน์โฟร์ท จำกัด บริษัท วันบานาน่า จำกัด บริษัท มาตา โปรดักส์ จำกัด และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตผลไม้ปลอดภัยสารพิษเพื่อส่งออก และฝ่ายผู้ขาย 15 ราย ได้แก่ สหกรณ์ส่งเสริมธุรกิจภาคเกษตรจังหวัดตราด จำกัด สหกรณ์การเกษตรประตูป่า จำกัด สหกรณ์การเกษตรเขาสมิง จำกัด สหกรณ์การเกษตรป่าซาง จำกัด วิสาหกิจชุมชนสับปะรดตราดสีทอง วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรสวนชมพู่เพชรสายรุ้งตำบลหนองโสน วิสาหกิจชุมชนทุเรียนคุณภาพและผลิตภัณฑ์ชุมชนตำบลรับร่อ วิสาหกิจชุมชนเพื่อนเกษตรมังคุดบ่อไร่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มมังคุดศูนย์เรียนรู้การเกษตรท่ามะพลา วิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้ส่งออกตำบลชัยนาม กลุ่มแม่สินพัฒนาผลิตส้มปลอดสารพิษ กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกส้มสีทองบ้านน้ำเลียง กลุ่มเกษตรกรชาวสวนบ้านหัวอ่าว กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยเล็บมือนาง กลุ่มเกษตรกรจังหวัดราชบุรี
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าลงพื้นที่ จ.จันทบุรี ไปตรวจสอบกรณีผู้รวบรวมผลไม้ (ล้ง) ที่เป็นสัญชาติไทยที่ร่วมทุนกับจีน เพื่อป้องปรามไม่ให้ทำผิดกฎหมาย เบื้องต้นที่ตรวจสอบ 6 รายไม่พบว่าทำผิดกฎหมายแต่อย่างใด โดยเป็นล้งที่ไม่ได้นำผลผลิตมาขายในประเทศ แต่หุ้นส่วนที่เป็นคนไทยจะรวบรวม คัดเลือกผลผลิต แล้วหุ้นส่วนชาวจีนก็จะดำเนินการเพื่อส่งออกอย่างเดียว ซึ่งนับเป็นข้อดีที่จะช่วยทำให้ผลไม้ไทยมีราคาดีขึ้น เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง
ทั้งนี้ กระทรวงฯ ยังมีแผนที่จะตรวจสอบต่อ โดยวันที่ 22-23 พ.ค. จะลงพื้นที่ จ.ระยอง จ.ตราด เพื่อตรวจสอบล้งอีก 20-30 ราย และจะผลักดันให้ล้งทุกแห่งเข้าสู่ระบบถูกต้องตามกฎหมาย โดยหากพบว่ามีล้งทำผิดกฎหมายให้แจ้งมาที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้