“พาณิชย์” ขอความร่วมมือผู้ผลิตหากจะทำการลดปริมาณสินค้า ขนาดบรรจุภัณฑ์ แม้จะไม่เปลี่ยนแปลงราคา ต้องแจ้งก่อน พร้อมขอห้างหากเห็นการเปลี่ยนแปลง ก่อนเอาของขึ้นชั้นวาง ต้องตรวจสอบก่อนด้วย เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้ผู้บริโภค
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้เชิญผู้ผลิตรายใหญ่ และห้างค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่มาหารือมาตรการกำกับดูแลราคาสินค้าให้เป็นธรรมต่อผู้บริโภค หลังจากเกิดปัญหาการปรับลดปริมาณสินค้าและขนาดบรรจุภัณฑ์ และขายราคาเดิม จนผู้บริโภคมีความกังวล โดยได้ขอความร่วมมือไปยังผู้ผลิตว่าหากจะมีการปรับลดปริมาณสินค้าและขนาดบรรจุภัณฑ์จะต้องแจ้งเรื่องต่อกรมการค้าภายในก่อนที่จะมีการซื้อขายในตลาด และยังได้ขอให้ห้างช่วยตรวจสอบสินค้าที่นำเข้าไปขายในห้าง หากเห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงทั้งปริมาณและขนาดบรรจุ ก็ให้ตรวจสอบมายังกรมการค้าภายในก่อนที่จะนำสินค้าไปขาย เพื่อเป็นการดูแลราคาสินค้าให้รัดกุม และสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้บริโภค
ทั้งนี้ มาตรการขอความร่วมมือดังกล่าว เป็นมาตรการเพิ่มเติมจากมาตรการปกติที่กระทรวงใช้ในการกำกับดูแลราคาสินค้า ไม่ได้เป็นมาตรการบังคับ แต่ผู้ประกอบการทุกรายยินดีที่จะปฏิบัติตาม และในส่วนของห้างก็พร้อมที่จะช่วยตรวจสอบ
นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า สำหรับสินค้าที่มีการลดปริมาณและขนาดบรรจุภัณฑ์ 2 รายการที่เป็นข่าว ทั้งครีมอาบน้ำตราโพรเทคส์ และน้ำยาซักฟอก ตราบรีส เอกเซล นั้น ผู้ผลิตได้แจ้งว่าขณะนี้ต้นทุนสารที่ใช้ในการผลิตมีราคาสูงขึ้น เมื่อเทียบกับช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา จึงต้องหาทางลดต้นทุน แต่ในส่วนของราคาจำหน่าย ที่ยังคงเดิม ไม่ลดลง เพราะภายใต้ต้นทุนเดิม ได้ตั้งราคาจำหน่ายไว้สูง แต่การค้ามีการแข่งขันสูง และสามารถลดราคาลงมาได้ จึงไม่ได้ขายเต็มราคา พอมาถึงตอนนี้ ราคาที่ขายก็ถือว่าเต็มเพดานแล้ว
โดยต้นทุนครีมอาบน้ำ ขนาดบรรจุเดิม 500 มิลลิลิตร (มล.) ราคาจำหน่ายปลีกแนะนำตามต้นทุนข้อมูลตั้งแต่ปี 2557 อยู่ที่ 184 บาท แต่ผู้ผลิตขายที่ 165 บาท และขนาดใหม่ 450 มล. เริ่มตั้งแต่ เม.ย. 2560 ราคาจำหน่ายปลีกแนะนำอยู่ที่ 165 บาท ราคาจำหน่ายในห้างค้าปลีก 165 บาท ซึ่งเป็นราคาเดิมและไม่สูงกว่าราคาจำหน่ายปลีกแนะนำ ส่วนน้ำยาซักฟอก เดิม 800 มล. ราคาจำหน่ายปลีกแนะนำ ปี 2557 อยู่ที่ 85 บาท จำหน่ายในห้าง 79 บาท และขนาดใหม่ 750 มล. ราคาจำหน่ายปลีกแนะนำ 80 บาท ราคาในห้าง 79 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ไม่สูงกว่าราคาแนะนำ
อย่างไรก็ตาม ในการหารือครั้งนี้ ได้ขอให้ทางผู้ผลิตพิจารณาว่าจะช่วยเหลือ หรือลดภาระให้กับผู้บริโภคได้อย่างไรบ้าง โดยแนวทางที่กระทรวงได้เสนอ เช่น ขอให้ปรับลดราคาลงตามปริมาณและขนาดบรรจุที่ลดลงจะได้หรือไม่ ซึ่งทางผู้ประกอบการที่เข้าประชุมได้แจ้งว่าต้นทุน และราคาจำหน่ายของแต่ละรายไม่เหมือนกัน แต่ได้รับที่จะนำไปปรึกษาหารือกับฝ่ายบริหาร ก่อนที่จะนำกลับมาหารือกันอีกครั้งในวันที่ 16 พ.ค. 2560
ส่วนสินค้ารายการอื่นๆ ที่มีการปรับลดปริมาณและขนาดบรรจุภัณฑ์ กรมการค้าภายในได้มีการติดตามอย่างใกล้ชิด และได้ขอความร่วมมือให้ผู้ผลิตต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน ไม่จำกัดเฉพาะสินค้า 2 รายการที่เป็นข่าว
สำหรับผู้ผลิต 8 ราย ได้แก่ บริษัท คอลเกต-ปาล์มโอลีฟ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ยูนิลีเวอร์ไทย เทรดดิ้ง จำกัด บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไอ.พี.เทรดดิ้ง จำกัด บริษัท คาโอ คอมเมอร์เชียล (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท นีโอ คอร์ปอเรท จำกัด และห้างค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่ 4 ราย ได้แก่ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด